ที่ประชุมประเมินผลกระทบด้านสุขภาพแบบเร่งด่วนกรณีโรงโม่-เหมืองหินดงมะไฟ มีความเห็นให้ทำ EIAใหม่ ศึกษาโบราณคดีเพิ่มเติมคาดอาจเป็นแอ่งอารยธรรมโบราณ

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2556 เวลา 09.00-12.30 น. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)จัดประชุมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพแบบเร่งด่วน (Rapid HIA) กรณีโรงโม่และเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ของนายดุสิต ตรีวัฒน์สุวรรณ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู โดยที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันคือ ให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ใหม่ เพราะปัจจุบันบริบทของชุมชนและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากในรายงานเล่มเดิมที่ศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2543-44 และศึกษาข้อมูลโบราณคดีเพิ่มเติมเนื่องจากผู้แทนกรมศิลปากรตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ เพราะมีการพบแหล่งโบราณคดีโดยรอบพื้นที่ประทานบัตรเหมืองหินโดยมีตัวแทนจากชุมชนดงมะไฟ มหาวิทยาลัยมหิดลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมศิลปากร กรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นักกฎหมาย และนักวิชาการอิสระด้านผังเมือง เข้าร่วมประชุม

น.ส.สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า การประชุมRapid HIAนี้เป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่มี นพ.วิพุธ พูลเจริญ เป็นประธาน ครั้งที่6/2555 วันที่21กันยายน 2555ที่ชุมชนยื่นประสานมายัง สช. ขอให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตามที่มีการรับรองสิทธิ์ไว้ในพรบ.สุขภาพแห่งชาติ 2550ซึ่งมีมติให้ส่งเรื่องและข้อมูลประกอบเข้าไปที่ กพร. และสำนักงานนโยบายและแผนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยใช้รูปแบบ Rapid HIA ที่เชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาให้ข้อมูล โดยเลือกใช้รูปแบบนี้เพราะอยู่ในช่วงที่ผู้ประกอบการขอยื่นประทานบัตรใหม่ และตามกรอบกฎหมายของประเทศไทย คือรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ผ่านการอนุญาตแล้วไม่มีการหมดอายุ เมื่อศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยให้ดำเนินการต่อไปได้ และประทานบัตรหมดอายุ เรื่องจึงวนเข้าไปที่ คณะกรรมการกลั่นกรองตาม พรบ.แร่ ไม่ต้องทำ EIA ใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ คณะกรรมการฯ

ปัจจุบันยังไม่เปิดทำโรงโม่และเหมืองหินและหมดอายุประทานบัตรไปเมื่อปี 2553 แต่ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) มาตั้งแต่ปี 2542 และทำเพิ่มเติมในปี 2543 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการบัญญัติเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA)ไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ชุมชนจึงอยากทำ HIA เพื่อศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและเป็นข้อมูลให้ กพร. ตัดสินใจอย่างรอบคอบโดยเฉพาะผลกระทบที่อาจเกิดกับภาพเขียนสี ภูผายา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2548 และอยู่ห่างจากพื้นที่ประทานบัตรไม่ถึง1กม. บริเวณที่เป็นพื้นที่ประทานบัตรก็เป็นแหล่งอาหารสำคัญและพื้นที่อนุรักษ์ป่าของชุมชน หรือผลกระทบจากการระเบิดหินที่อาจทำให้เศษหินกระเด็นเข้าไปในไร่นาและที่บ้านเรือน ทั้งนี้ในอดีตที่มีการทดลองระเบิดก็ทำให้บ้านเรือนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงแตกร้าวและปัจจุบันชุมชนขยายตัวเข้าไปใกล้ขอบประทานบัตรเป็นจำนวนมาก และพื้นที่ใกล้เคียงก็กำลังพัฒนาเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว

นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันทางผู้ประกอบการขอต่ออนุญาตโครงการและเมื่อปีที่แล้ว (2554) ได้รับใบอนุญาตการขอต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าในเขตพื้นที่ภูผารวก และผาจันใด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอย และป่านากลางตั้งแต่10 พฤศจิกายน 2554 – 3 กันยายน 2563และใช้รายงาน EIA ฉบับเดิม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการพิจารณา กพร. ในขณะที่ชุมชนได้ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาตการใช้ประโยชน์ในพื้นทีป่าต่อศาลปกครองจังหวัดอุดรธานี และยื่นขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ทางชุมชนจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องไปยังศาลปกครองสูงสุด ในขณะที่การยื่นฟ้องคดีอาญาเรื่องการปลอมแปลงเอกสารเพื่อใช้ในการพิจารณาออกใบอนุญาตของกรมป่าไม้ โดยศาลอาญามีคำวินิจฉัยว่าเอกสารเป็นเท็จ

 

นายเมธี จีระพันธ์ วิศวกรเหมืองแร่ ชำนาญการ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 2 อุดรธานี กล่าวว่าปัจจุบันโรงโม่และเหมืองหินนี้ยังไม่ได้รับใบอนุญาตขอต่ออายุประทานบัตรครั้งที่ 2 แต่การที่ได้ใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าไม้ก็ยังไม่มีสิทธิ์ทำเหมืองแร่ และในอดีตที่เคยทำเหมืองแร่เมื่อปี 2544-45 นั้นเรื่องอยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะนั้นยังไม่มี กพร. จึงไม่มีข้อมูลในอดีตของที่นี่และหลังจากหมดอายุประทานบัตรไปเมื่อปี 2553 จะมิสิทธิ์ทำเหมืองต่ออีก 180 วัน ปัจจุบันจึงยังไม่มีการผลิตแร่แม้แต่ก้อนเดียว

นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น กล่าวว่าพื้นที่นี้อาจต้องขุดสำรวจทางโบราณคดีเพิ่มเติมจากภูผายาทั้ง 4 ทิศ เพื่อสำรวจและตรวจสอบดูโดยรอบเพราะในบริเวณนี้พบหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่ต่อเนื่องเช่น พบที่บ้านวังหินซา ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ประทาบัตรออกมาราว 5-6 กม. ซึ่งพื้นที่นี้เคยมีการขุดสำรวจมาตั้งแต่ปี 2536-2548 และกรมศิลปากรได้ประกาศให้ภาพเขียนสีภูผายาเป็นโบราณสถานไปเมื่อ 4 กรกฎาคม 2548
น.ส.ภารนีสวัสดิรักษ์ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวว่าตั้งข้อสังเกตจากร่างผังเมืองรวมจังหวัดหนองบัวลำภูที่มีการกำหนดพื้นที่ศักยภาพเหมืองหินเป็นบางพื้นที่เฉพาะไว้ในเขตพื้นที่เกษตรชนบทและเกษตรกรรมซึ่งยังไม่มีเหมืองและการจะทำเหมืองก็ต้องขอใบอนุญาตหลายประเภทเช่น รายงาน EIA ใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่า จึงทำให้ดูเหมือนเป็นการปักธงให้มีเหมืองแร่ในพื้นที่นั้นๆ อีกทั้งยังขัดกับมาตรฐานการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมที่ห้ามกิจกรรมที่ส่งผลกระทบกับการเกษตร

นอกจากนี้สำหรับกรณีโรงโม่และเหมืองหิน ต.ดงมะไฟ นี้ การระเบิดภูเขาที่เป็นที่บังลมจะกลายเป็นที่กำเนิดฝุ่นที่ตกกระทบบนยอดข้าวในนาของชุมชนและตกไปในบ่อน้ำผิวดินที่เป็นน้ำนิ่งและชุมชนยังใช้ประโยชน์อาจทำให้เกิดผลกระทบตามมาอีก และพื้นที่หลัก (Core Zone) ของเหมืองคือภูเขาในขณะที่ชุมชนคือภูเขาและที่นาโดยรอบ และเมื่อระเบิดภูเขาจะทำให้ Core Zone ของเหมืองและชุมชนหายไป ซึ่งอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ในระบบนิเวศน์ตรงนั้นเปลี่ยนไปด้วยและผลกระทบระบบเศรษฐกิจของชุมชน นอกจากนี้ในรายงาน EIA ระบุว่าการทำเหมืองระยะที่ 2 จะอยู่ห่างจากที่ราบกว่า 240 เมตร และจะมีบ่อลึกที่กลายเป็นที่เก็บน้ำอยู่สูงกว่าชุมชนกว่า 200 เมตรเช่นกัน ซึ่งมาตรการหลังการเปิดเหมืองนี้ควรศึกษาและตรวจสอบอันตรายที่อาจเกิดตามมา เช่นการศึกษาเรื่องฐานทางธรณีวิทยา ความมั่นคงแข็งแรงของหิน เพื่อให้เกิดหลักประกันในมาตรการนี้