เวทีเรียนรู้เอชไอเอผ่านกรณีศึกษา (HIA Case Conference) ท่าศาลา เซฟร่อน ข้อคิดเห็นและข้อสังเกตุต่อกระบวนการ EHIA หัวข้อ กระบวนการกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบ
เวทีเรียนรู้เอชไอเอผ่านกรณีศึกษา (HIA Case Conference)กรณีศึกษาที่ 1
โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย
ของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2555 เวลา 08.30 -17.00 น.
ณ ห้องประชุมสานใจ 1 ขั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ ภายในกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
จัดโดย เครือข่ายนักวิชาการเอชไอเอ (HIA Consortium) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า นอกจากนี้โครงการนี้เป็น 1 ใน 11 ประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA เพราะมีท่าเรือที่ยื่นออกไปในทะเลยาวกว่า 300 เมตร คือยาวออกไป 330 เมตร ต้องจัดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตโดยสาธารณะหรือ Public Scoping ซึ่งในหลายโครงการที่ทำก็พบว่าเป็นเพียงพิธีกรรมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่อยากให้สาธารณะว่าร่วมกันกำหนดประเด็นข้อห่วงกังวลก่อนนำไปศึกษาและประเมินผลกระทบ โดยที่ผ่านมาชุมชนก็มีการทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน หรือ CHIA เป็นการทำตามกฎหมาย พรบ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ซึ่งพบว่าโครงการท่าเรือนี้จะทำให้ ดอน ซึ่งเป็นระบบนิเวศย่อยในทะเลซึ่งเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำและแหล่งอาหารเสียอย่างยากที่จะเรียกคืนได้ นอกจากนี้ในกรอบข้อตกลงในการดำเนินโครงการ (TOR : Term Of Reference) ควรระบุตัวชี้วัดในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพใน 4 มิติ คือ สุขภาพ จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ
“มิติชี้วัดด้านจิตวิญญาณและปัญญาของกรณีนี้คือการสืบทอดอาชีพประมงและทะเลคือชีวิตของพวกเขา หากทะเลตายจิควิญญาณพวกเขาก็ตาย คนที่ไร้วิญญาณก็คือผีดิบ หายใจ มองเห็นแต่ไม่มีความรู้สึก ถ้าโครงการใดโครงการหนึ่งกระทบจิตวิญญาณมันอาจเป็นจุดแตกหักของชุมชนเลยก็ได้” รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาครัฐควรมีการปรับปรุงกระบวนการทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ด้วยการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่มีผู้นำและตัวแทนชุมชนร่วมอยู่ด้วยพร้อมให้น้ำหนักกับการศึกษาเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ ขณะเดียวกันการเลือกกลุ่มตัวอย่างเพื่อประเมินผลกระทบต่อสุขภาพควรศึกษาในทุกหลังคาเรือนที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ที่จะมีโครงการหรือกิจกรรม ส่วนจะกระจายออกไปในรัศมีเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับการศึกษาการกระจายของสิ่งคุกคามชนิดนั้นๆ เช่น กรณีของแก๊ส ควรเลือกจำนวนตัวอย่างตามสัดส่วนของการกระจายของแก๊สนั้น และหากมีรายละเอียดของข้อมูลจำนวนมากหรือยากต่อการทำความเข้าใจ จะต้องสื่อสารหรืออธิบายให้ประชาชนทราบ
นอกจากนี้ควรมีการฝึกอบรมการจัดทำ HIA ให้กับบริษัทที่ปรึกษาอย่างต่อเนื่อง และควบคุมด้วยการสอบ ขึ้นทะเบียน นักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการที่ทำ EIA HIA ได้ พร้อมกันนั้น ควรจัดตั้งเป็นกองทุน เก็บเงินจากสถานประกอบการที่ต้องการทำ EIA HIA แล้วกองทุนมาเปิดประมูลหาบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการทำ EIA HIA เพื่อบริษัทฯสามารถทำตามหลักวิชาการได้อย่างเต็มที่
ชมวิดีโอ >>Click<<