HIA ท่าศาลา เซฟร่อน ข้อคิดเห็นและข้อสังเกตุต่อกระบวนการ EHIA การมีส่วนร่วมของชุมชน และการเปิดเผยรายงานEHIA ต่อสาธารณะ

เวทีเรียนรู้เอชไอเอผ่านกรณีศึกษา (HIA Case Conference)กรณีศึกษาที่ 1
โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย
ของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2555 เวลา 08.30- 17.00 น.
ณ ห้องประชุมสานใจ 1 ขั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ ภายในกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
จัดโดย เครือข่ายนักวิชาการเอชไอเอ (HIA Consortium) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

นายประสิทธิชัย หนูนวล นักปฏิบัติการเอชไอเอชุมชนท่าศาลา กล่าวว่า ร่างรายงานฯ โครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาของ คชก. ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเพียงการปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย แต่เชื่อว่าเนื้อหายังมีข้อบกพร่องโดยเฉพาะในส่วนของผลกระทบต่อชุมชน อีกทั้ง คชก. ก็ไม่เปิดเผยรายงานฉบับดังกล่าวต่อสาธารณชนอีกด้วย

นายประสิทธิชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทเชฟรอนฯ ทราบข้อห่วงกังวลของชุมชนจากขั้นตอนของการกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบ (Public Scoping) ที่เปิดให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดขอบเขตการศึกษาแต่กลับไม่ได้สนใจในประเด็นนี้อย่างจริงจัง โดยสิ่งที่ชาวบ้านสะท้อนออกมาประกอบด้วย 1. บริษัทมีการละเมิดสิทธิชุมชนด้วยการร่วมมือกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่สร้างความแตกแยกให้คนในชุมชน ทำให้ชาวบ้านขาดความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นเพราะถูกครอบงำโดยผู้นำท้องถิ่น 2. เกิดผลกระทบกับประมงชายฝั่งและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างรุนแรง เพราะพื้นที่ อ.ท่าศาลา มีดอนหรือสันดอนขนาดใหญ่ที่เกิดจากการทับถมของตะกอน แร่ธาตุ ปะการัง ทำให้ปลาและสัตว์น้ำต่างเข้ามาอาศัยบริเวณนี้จำนวนมาก หากดอนถูกทำลายไป เท่ากับอาชีพของคนในพื้นที่ อ.ท่าศาลาจะล่มสลายไปในทันที

นอกจากนั้นชุมชนท่าศาลาได้รวมตัวกันศึกษาและทำข้อมูลด้วยกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชนหรือเอชไอเอชุมชน ควบคู่ไปกับการทำการศึกษา EHIA ของบริษัทที่ปรึกษาและพบว่า พื้นที่อ่าว อ.ท่าศาลา-อ.สิชล มีดอนในทะเลที่สมบูรณ์จนชุมชนเรียกว่าดอนทองคำ เพราะสามารถหาสัตว์ทะเลได้ทั้งปีโดยเฉพาะกั้งในช่วงมรสุมเช่นนี้สามารถหาได้เต็มลำเรือโดย 1 ลำขายหน้าท่าได้ กิโลกรัมละ 750 บาท รวมแล้วกว่า 20,000 บาท และดอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณปากน้ำกลาย ซึ่งก็เป็นจุดเดียวกับที่จะมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก ยังมีปรากฏการณ์ธรรมชาติจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ(ลมว่าว) และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้(ลมพลัด) ที่เป็นต้นกำเนิดทำให้เกิดลมหมุนเวียนตลอดทั้งปีจากทะเลไปปะทะเทือกเขาหลวงในลักษณะทวนเข็มนาฬิกา เรียกว่า “ลม 8 ทิศ” ถือเป็นส่วนหนึ่งระบบนิเวศทางทะเลมีผลต่อการออกหาอาหารและเคลื่อนย้ายถิ่นของสัตว์น้ำ

“ในอนาคตเชื่อว่าจะเกิดนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องในบริเวณนี้ เพราะตามแผนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ต้องการให้มีการลงทุนด้านปิโตรเคมี 2 หมื่นไร่ และแผนของบริษัทเชฟรอนฯ อาจมีการวางท่อก๊าซอีกด้วย เชื่อว่าลม 8 ทิศจะพัดพามลพิษจากชายฝั่งเข้าสู่พื้นที่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งถูกกั้นไว้โดยเขาหลวงที่อยู่ด้านหลัง จะสร้างอันตรายต่อสุขภาพของคนในจังหวัด” นายประสิทธิชัยกล่าว

นายสุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการนิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ตามประกาศของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารราชการ รายงาน EHIA ควรได้รับการเปิดเผยอย่างโปร่งใสจาก คชก. เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 56-57 ให้การรับรองสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนโดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ยังสามารถยื่นใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.2540 เพื่อขอดูรายละเอียดรายงาน EHIA ได้ หากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารไม่ให้เปิดเผย ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้และหากยังไม่เห็นชอบก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ทั้งนี้ ตามประกาศของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสิ่งแวดล้อมกำหนดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายงาน EIA และ HIA รวมถึงรายงานการประชุมและความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งทางบริษัทที่ปรึกษาหรือบริษัทเจ้าของโครงการจะอ้างเป็นความลับไม่ได้ 

ชมวิดีโอ >>Click<<