HIA ท่าศาลา เซฟร่อน นำเสนอ กระบวนการและผลการศึกษา HIA ชุมชน ตอนที่ 1,2,3 และ 4

เวทีเรียนรู้เอชไอเอผ่านกรณีศึกษา (HIA Case Conference) กรณีศึกษาที่ 1
โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย
ของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2555 เวลา 08.30 -17.00 น.
ณ ห้องประชุมสานใจ 1 ขั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ ภายในกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
จัดโดย เครือข่ายนักวิชาการเอชไอเอ (HIA Consortium) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

นางสาวสมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า รายงาน EHIA โครงการนี้ของบริษัทเชฟรอนฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (คชก.) ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2555 ยังมีรายละเอียดของผลกระทบที่ไม่ตรงกับรายงานเอชไอเอชุมชนประมงพื้นบ้าน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นผู้จัดทำขึ้น โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ
1. การเลือกพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือที่ทางบริษัทฯ อ้างว่าเป็นทะเลเปิดไม่ใช่เขตพื้นที่ที่มีความสำคัญจำเพาะด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมหรือเขตอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่รายงานของชุมชนระบุว่าพื้นที่นี้เชื่อมโยงกับระบบนิเวศที่เรียกว่า “เขา ป่า นา เล” และยังมีแม่น้ำสายสั้นไหลสู่ อ่าวท่าศาลาอีก 10 สายน้ำแหล่งแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ลงสู่ทะเล เกิดเป็น “ดอน” ใต้ทะเลที่ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งจับสัตว์น้ำซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจชุมชนนับหมื่นล้าน และกำลังผลักดันให้มีการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองแหล่งผลิตอาหาร
2. การกำหนดขอบเขตของการศึกษาในกรณีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนี้ ซึ่งทางบริษัทฯ ระบุผู้มีส่วนได้เสียคือผู้ที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบโครงการฯ แต่ชุมชนมองว่าการขุดร่องน้ำลึกเพื่อสร้างท่าเรือกระทบต่อการประมงที่เกิดขึ้นของทั้งอ่าวซึ่งในอ่าวนี้มีชาวประมงจากต่าง ตำบล ต่างอำเภอ และต่างจังหวัดเข้ามาหากินกว่า 2,000 ลำ รวมทั้งกลุ่มคนที่อยู่ในธุรกิจต่อเนื่องด้วย
3. ความรุนแรงของปัญหาซึ่งจากรายงาน EHIA ของโครงการนี้ระบุว่ามีเรือประมงเพียงไม่กี่ลำที่ได้รับผลกระทบจึงมีมาตรการเยียวยาให้กับกลุ่มนี้ได้ ในขณะที่ข้อมูลเอชไอเอชุมชนพบว่าความรุนแรงของปัญหากระจายตัวในวงกว้างกระทบต่อชาวประมงจำนวนมากที่เข้ามาหากินที่นี่และธุรกิจสัตว์ทะเลต่อเนื่อง หากวิถีประมงล่มสลายธุรกิจต่อเนื่องที่มีมูลค่าราวหมื่นล้านย่อมล่มสลายไปด้วย ดังนั้นมาตรการเยียวยาผลกระทบจึงเป็นไปไม่ได้
โครงการลงทุนของบริษัทเชฟรอนฯ ไม่ได้มีเพียงท่าเทียบเรือน้ำลึก กำแพงกันคลื่น ร่องน้ำเข้า-ออกท่าเรือ เท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่พัฒนาโครงการ 105 ไร่ ประกอบไปด้วยอาคารสำนักงาน คลังเก็บวัสดุอุปกรณ์ ลานกองวัสดุ (สำหรับวางวัสดุประเภทท่อ) คลังเก็บเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการขุดเจาะปิโตรเลียม พื้นที่สำหรับจัดเก็บขยะ และบ่อกักเก็บน้ำดิบ เป็นต้น

บทสรุปจากเวทีพบว่า EHIA
1. บกพร่องทั้งกระบวนการและเนื้อหา ทั้งนี้ข้อมูลจาก Draft EHIA และ CHIA ต่างกันมากยังมีข้อขัดแย้งกัน ใน มติของคชก. ในการประชุมครั้งแรกให้นำข้อมูลของ CHIA เข้าไปร่วมในการประเมิน CHIA ช่วย Empowerment ชุมชนและกำหนดการพัฒนาของพื้นที่และจะเข้าไปกำกับในขั้นตอนนโยบายได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องหาทางเชื่อมต่อ
2. ธรรมาภิลาลการเข้าถึงเนื้อหา
3. ในขั้นการกำหนดขอบเขต Public Scoping กลุ่มประมงไม่ถูกนับเป็นผู้ได้รับผลกระทบสำคัญ
ระบบ EHIA มีข้อจำกัดอยู่เยอะ มีข้อเสนอต่อ สช. ว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทที่ปรึกษาได้ทำหน้าที่ในการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจอย่างรอบคอบรอบด้าน 

ชมวิดีโอ ตอนที่ 1 >>Click<<

ชมวิดีโอ ตอนที่ 2 >>Click<<

ชมวิดีโอ ตอนที่ 3 >>Click<<

ชมวิดีโอ ตอนที่ 4 >>Click<<