มลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน : มรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น
สักกี่คนที่ตระหนักถึงหายนะของผู้คนที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาด ลุ่มน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำบางปะกง ความสูญสิ้นของทรัพยากรธรรมชาติ ความเจ็บไข้ได้ป่วยและการล้มหายตายจากของคน สัตว์ พืชพันธุ์ และอีกสารพันปัญหาที่กำลังรุกคืบเข้ามาพร้อมกับโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ ทั้งวิถีชีวิตของคนในชุมชน วิถีเกษตรธรรมชาติ และที่สำคัญใกล้ตัวที่สุดคือ มลพิษทางอากาศ น้ำ พื้นดินที่ส่งผลโดยตรงกับสุขภาพของเราและสั่งสมยืดยาวไปถึงชั่วลูกชั่วหลาน
ทิศทางการพัฒนาที่ถาโถมดินแดนลุ่มน้ำคลองท่าลาด เริ่มพลิกโฉมอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. 2542 เมื่อเกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 37.4 เมกะวัตต์ ใน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม มลพิษทั้งทางอากาศ ทางน้ำเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเท่าทวีคูณ วิถีชีวิต วิถีเกษตรตามครรลองต้องเผชิญกับวิกฤต เรือกสวนไร่นาของพืชพันธุ์บางชนิดเริ่มประสบหายนะ อย่างสวนมะม่วงที่ได้รับผลกระทบจากเขม่าควันจากโรงไฟฟ้าปกคลุมดอกมะม่วงจนเป็นรา
แม้วิกฤตสวนมะม่วงอาจยังดูห่างไกล แต่ผลกระทบกับสวนมะม่วงนั้นเกิดจากโรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งมีขนาดเพียง 37.4 เมกะวัตต์เท่านั้น ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยดำริจะผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ถึง 600 เมกะวัตต์ที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาด เรามองเห็น “หายนะ” อยู่ไม่ไกลแน่นอน
ผลกระทบทางอากาศที่มักศึกษาชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ในความเป็นจริงมีปัจจัยหลายชนิดที่ทำให้เกิดผลกระทบรัศมีกว้างไกลกว่า 5 กิโลเมตร เช่น ทิศทางลมและสภาพของพื้นที่ จากรายงานการเผาไหม้ของถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย พบว่า ถ่านหิน 100 เมกกะวัตต์ จะทำให้เกิดสารปรอทประมาณ 10 กิโลกรัม ซึ่งถ่านหินที่จะเป็นเชื้อเพลิงชนิดใหม่ในโรงไฟฟ้าที่ จ.ฉะเชิงเทรา น่าจะทำให้เกิดสารปรอทประมาณ 5-6 กิโลกรัมตามสัดส่วน นอกจากนี้การเผาถ่านหิน 4 ตันจะเกิดขี้เถ้า 1 ตัน และหากมีลมพัด ที่ความเร็ว 5.5-7.9 เมตร ต่อวินาที จะทำให้เถ้าของถ่านหินนั้นฟุ้งกระจายไปได้ไกลครอบคลุมพื้นที่ถึง 150,000 ตารางกิโลเมตร และเงื่อนไขที่สำคัญคือ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดที่มีลมเข้ามาถึง 3 ทิศ ดังนั้นแนวโน้มการฟุ้งกระจายน่าจะสูงขึ้นอีกตามลำดับ
นอกจากสารปรอทและขี้เถ้าแล้ว ยังพบว่า ในระยะเวลา 1 ปี ถ่านหิน โดยเฉพาะถ่านหินพิทูมินัสซึ่งได้ชื่อว่าเป็นถ่านหินที่สะอาดที่สุดในบรรดาถ่านหินทั้งหมด ยังก่อให้เกิดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ถึง 785 ตัน และก่อให้เกิดฝุ่นมากถึง 72,000 กิโลกรัมต่อปี ที่สำคัญคือ ฝุ่นที่ออกมาจากถ่านหินนั้น มีสารเคมีอย่างอื่นปนเปื้อนออกมาด้วย เช่น สารปรอท พบว่า ใน 1 ปี จะมีสารปรอทออกมาจากเถ้าของถ่านหิน มากถึง 112 กิโลกรัม ถือว่าอันตรายมาก เพราะปรอทเป็นสารที่สลายตัวยาก และสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมยาวนานมาก เช่น ลงไปในน้ำ สะสมในสัตว์น้ำ คนกินเข้าไปก็จะไปสะสมในร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดโรคร้ายต่างๆ มากมาย
“มลพิษทางอากาศ” ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง แก๊สชนิดต่างๆ ฝุ่นละอองมลพิษที่โรงกลั่นปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ได้แก่ แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อปล่อยสู่อากาศจะทำปฏิกิริยากับไอน้ำกลายเป็นกรดซัลฟิวริกและเกลือซัลเฟต เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ พืชพันธุ์ไม้น้ำ และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ สารพิษต่างๆ สะสมในห่วงโซ่อาหาร เมื่อมนุษย์กินปลาหรือสัตว์น้ำเหล่านั้นเข้าไปจะได้รับพิษด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ปล่องของโรงกลั่นน้ำมันยังปล่อยฝุ่นละอองออกมา ซึ่งเป็นฝุ่นขนาดเล็กอันตรายต่อสุขภาพของคนมากที่สุด เนื่องจากฝุ่นเล็กจะผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และเข้าสู่ปอด ทำให้เป็นมะเร็งปอดได้โดยตรง
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดมีรายงานว่า ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 0.625-2.5 ไมครอน จะเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงผ่านการหายใจ มีสารปรอทและโลหะหนักเกาะไปกับฝุ่นพวกนี้ด้วย นอกจากนี้ยังน่ากังวลในเรื่องผลกระทบทางน้ำ เพราะฝุ่นขนาดเล็กมากและโลหะที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าอาจจะไปปนเปื้อนในน้ำ และดิน ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและต้นไม้ โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตรอีกด้านหนึ่งด้วย
โดยสรุปแล้วจากผลการศึกษาของหลายประเทศสะท้อนว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินก่อให้มลพิษด้านต่างๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง คือ โลหะ แก๊สจำพวกไฮโดรเจนฟลูออไรด์ ปรอท และจากกระบวนการเผาไหม้ ได้แก่ ไดออกซิน, ฟูเรน, กัมมันตภาพรังสี เป็นต้น พิษภัยของสารเคมีทั้งชื่อคุ้นหูและไม่คุ้นหูเหล่านี้ กระทบตั้งแต่ระบบสืบพันธุ์ ระบบฮอร์โมน ระบบทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจ ปอด ตับ ไต สมอง ไล่เรียงไปจนถึงสะสมในร่างกายแปลงเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นต้น
เมื่อถึงวันนั้นวันที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาด มีโรงไฟฟ้าถ่านหินพลังงานความร้อน 600 เมกาวัตต์ ตั้งตระหง่าน ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรของลุ่มน้ำคลองท่าลาดคงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าในตำนาน และ โดยมีพิษภัยจากสารเคมีนานาชนิดเป็นมรดกตกทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน รวมทั้งได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ชุมชนอุดมมลพิษ” ตามติดชุมชนอื่นๆ ที่เข้าเส้นชัยไปก่อนแล้วก็เป็นได้