โลกใต้น้ำที่ทะเลหัวไทร (1) บริเวณอำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร ชายฝั่งทะเลจังหวัดนครศรีธรรมราช
โลกใต้น้ำที่ทะเลหัวไทร
ข้อมูลโดย : สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร
เรียบเรียง : ศรเดช คำแก้ว ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
ภาพโดย :: สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร
ศรเดช คำแก้ว และประสิทธิ์ชัย หนูนวล
ทะเลอาจเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามสำหรับการท่องเที่ยว ทะเลอาจเป็นระบบนิเวศน์ชนิดหนึ่งสำหรับงานด้านนิเวศวิทยา ทะเลอาจเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับเถ้าแก่เจ้าของโรงงาน ทะเลล้วนมีแง่มุมสำหรับมุมของแต่ละคนแต่ละอาชีพ ทะเลจึงสามารถเป็นมุมชีวิตให้กับทุกคนได้เสมอ ความสวยงามและสมบูรณ์ของทะเลจึงหมายถึงมุมที่สวยงามของชีวิตแต่ละคน หากทะเลถูกย่ำยีก็หมายถึงมุมที่สวยงามของชีวิตแต่ละคนก็ถูกย่ำยีด้วยเช่นกัน ทะเลจึงไม่ใช่สมบัติของชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ริมทะเล เพียงแต่พวกเขาคือคนรักษาทะเลและนำอาหารจากทะเลมาหล่อเลี้ยงเราทุกคน
เราทุกคนใช้ประโยชน์จากทะเลมาหลายชั่วอายุคนแต่จะมีสักกี่คนที่รู้รักทะเลให้เหมือนกับแผ่นดินของตัวเอง แม้ว่าทะเลจะเป็นผืนน้ำสาธารณะแต่จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามเราใช้ประโยชน์จากทะเลอยู่ทุกวันไม่น้อยไปกว่าการใช้ประโยชน์จากแผ่นดิน อย่างน้อยที่สุดเราได้ประโยชน์จากทะเลผ่านเส้นทางอาหารซึ่งมนุษย์บนโลกนี้อาศัยทะเลเป็นแหล่งอาหาร 2 ใน3 เราก็อยู่ในนิยามนี้ด้วยเช่นกัน การตระหนักถึงการรู้รักษาทะเลจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งและคงไม่ต้องรอให้ทะเลถูกทำลายจึงจะทำให้เราทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ ที่สุดของวันนี้คือทะเลกำลังจ่อประชิดด้วยภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงที่สุดในประวัติศาสตร์
ภายใต้ระลอกคลื่นที่ไม่มีวันหยุด บนผืนน้ำสีครามที่ไม่มีอะไรปะปน ความไกลสุดตาที่ไม่มีอะไรมากางกั้น สิ่งที่เรามองเห็นในทะเลมีแต่น้ำแต่สิ่งที่เรามองไม่เห็นก็คือโลกใต้น้ำ โลกซึ่งซับซ้อนไม่น้อยไปกว่าแผ่นดินใหญ่ โลกซึ่งทำหน้าที่เป็นรากฐานการผลิตสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่เกื้อกูลให้มนุษย์มีอากาศหายใจและมีอาหารกินมานานหลายศตวรรษ โลกซึ่งในความเป็นจริงมนุษย์ต้องตระหนักถึงคุณูปการอันสำคัญ
แม้เราไม่อาจรู้ได้ว่าใต้ทะเลประกอบด้วยความมหัศจรรย์และซับซ้อนอย่างไร แต่สิ่งที่เรารับรู้ได้คือสัตว์น้ำนานาชนิดที่นำขึ้นมาหล่อเลี้ยงชีวิตบนบกโดยไม่เคยหมดสิ้น หากกาลก่อนเราไม่เคยใส่ใจก็หาใช่ความบกพร่องแต่ประการใด แต่วันนี้โลกแห่งใต้ทะเลกำลังจะถูกทำลายจากมนุษย์ซึ่งเนรคุณต่อการทำหน้าที่ผู้ผลิตอาหารของโลกใต้ทะเล มนุษย์ซึ่งเต็มไปด้วยความโลภ เห็นคุณค่าของเงินตรามากกว่าสรรพชีวิตนับล้านที่ต้องสังเวยจากความไม่รู้จักพอ ภาระอันยิ่งใหญ่และสำคัญประการนี้อย่าได้ปล่อยให้เป็นภาระแก่ชาวประมงพื้นบ้านเพียงฝ่ายเดียว เราจงทำหน้าที่ปกป้องปากท้องและอากาศที่เราต้องกินต้องหายใจเข้าไปทุกวันเพื่อตัวเราเอง เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์แห่งเราให้คงอยู่สืบไป ไม่กลายพันธุ์ไปด้วยการเสพสารพิษซึ่งมนุษย์ผู้น่าชังเหล่านั้นกำลังหยิบยื่นมาให้
ชาวประมงพื้นบ้านผู้เคารพโลกใต้น้ำมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือที่ไม่ทำลายล้าง มีกระบวนการอนุรักษ์เพื่อทำให้สัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ดำรงห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจให้เป็นความสวยงามสมกับการเป็นตัวจริงของ ‘เศรษฐกิจสีฟ้า’ และได้ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้ารักษาทะเลจากคนที่มาทำลายมานานหลายทศวรรษ ชุมชนประมงพื้นบ้านทั่วทั้งภาคใต้ล้วนมีสำนึกเยี่ยงนี้มานาน สำนึกซึ่งตรงกันข้ามกับการทำลายของประมงพาณิชย์ รวมทั้งภัยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การทำลายทะเลคือ การแปรสภาพทะเลให้เป็นผืนน้ำแห่งสารพิษของนักอุตสาหกรรม ทั้งในคราบนักการเมืองและนักลงทุนทั้งที่เป็นชาติตัวเองและข้ามชาติมารุกราน…
สิ่งที่ชาวประมงพื้นบ้านทำได้วันนี้คือลุกขึ้นมาปกป้องทะเลผู้ให้อาหารและอากาศแก่เราผู้เป็นมนุษย์ รวมทั้งจะชักชวนเจ้าของทะเลทุกคนเข้ามาปกป้อง จึงอยากทำหน้าที่เล่าว่าโลกใต้น้ำมีความสำคัญอย่างไร โลกใต้น้ำที่ทะเลหัวไทรสมบูรณ์ขนาดไหน โลกใต้น้ำซึ่งหากถูกทำลายหมายถึงการทำลายอาหารและอากาศของทุกคน เราเล่ามันมาจากหัวใจแห่งการเป็นมิตรกับโลกใต้น้ำ เราเจอมันเกือบทุกวัน ทักทายกับมันจนเราเข้าใจและรับรู้ถึงกันแม้ว่ามองลงไปไม่เห็นใต้น้ำก็ตาม แต่จากประสบการณ์ที่สืบทอดกันมานับร้อยปีทำให้เราเข้าใจว่าโลกใต้น้ำคือรากฐานที่สำคัญสำหรับแหล่งอาหารของมนุษย์ เราอยากเล่าเพียงเพื่อบอกให้เจ้าของทะเลตระหนักถึงความสำคัญและลุกขึ้นมาร่วมกันปกป้องเท่านั้นเอง
ระบบนิเวศใต้ท้องทะเลที่หัวไทรเป็นโลกซึ่งเรามิอาจสัมผัสแต่สามารถมองเห็นได้จากเรือจำนวนหลายร้อยลำที่วิ่งลอยลำหาสัตว์น้ำซึ่งกระจุกตัวอยู่ในบริเวณเดียวกันที่มีรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตร ภายใต้ทะเลที่กว้างใหญ่เหตุผลใดที่ทำให้เรือหลายร้อยลำต่างมุ่งหน้ามาสู่พื้นที่อันจำกัดและเป็นเช่นนี้มานานหลายสิบปีแล้ว จนกระทั่งปัจจุบันและจะยังยาวนานไปถึงอนาคตอันยาวไกล
นั่นหมายถึงว่าภายใต้ทะเลอันกว้างใหญ่มีแหล่งสัตว์น้ำที่ชุกชุมอยู่ตรงจดใดจุดหนึ่งเป็นพิเศษ แสดงว่าโลกใต้น้ำตรงจุดนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากทะเลหัวไทรคือทะเลทรายเราอยากจะเรียกบริเวณนี้ว่าโอเอซิสแห่งทะเลหัวไทร
อะไรคือโอเอซิสแห่งทะเลหัวไทร คำตอบที่ชาวประมงแถวนี้เรียกขานกันคือ ที่นี่มีพื้นที่พิเศษที่เรียกว่า‘ดอนแอ่งกระทะ’พื้นที่ซึ่งคอยรองรับสรรพชีวิตใต้ท้องทะเล ทำหน้าที่เป็นครรภ์มารดาโอบอุ้มทารกน้อยให้เติบโต เป็นแม่ที่เลี้ยงสัตว์น้ำทั้งหลายให้เติบใหญ่ ในขณะเดียวกันก็เป็นบ้านที่อบอุ่นคอยอาศัยและหลบภัย
ความพิเศษดังกล่าวนี้คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงมนุษย์เรามายาวนานและถึงเวลาที่เราผู้เป็นมนุษย์จะแสดงความกตัญญูต่อมันบ้างยามที่มันกำลังจะถูกทำลาย…..
2
แอ่งกระทะ คือ ‘ดอน’ ที่ซ่อนตัว
ทะเลบริเวณอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรม ถือว่าเป็นพื้นที่ผลิตอาหารสาธารณะที่สำคัญสำหรับคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชและประชาชนทั่วทั้งประเทศ อันเป็นผลมาจากพื้นที่ทะเลหัวไทรมีลักษณะของระบบนิเวศเฉพาะซึ่งแตกต่างจากพื้นที่อื่นแม้ว่าจะอยู่บริเวณติดกัน ความจำเพาะดังกล่าวก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวในบริเวณนี้ ซึ่งชุมชนแถบนี้เรียกกันมาแต่เดิมว่าอ่าวหน้าทอง
แม้ว่าชายฝั่งทะเลจังหวัดนครศรีธรรมราชบริเวณ อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร มีลักษณะเป็นทะเลเปิด ไม่มีเกาะแก่ง ทำให้สามารถมองเป็นทัศนียภาพท้องทะเลที่สวยงามได้แต่ไกล ประกอบกับทะเลบริเวณนี้เป็นทะเลน้ำตื้นไม่ลึกเท่าฝั่งอันดามัน แต่ธรรมชาติได้จัดสรรทรัพยากรอันล้ำค่าให้กับพื้นที่นี้เป็นการเฉพาะด้วยการสรรสร้างระบบน้ำ ดิน และทรัพยากรอื่นให้เหมาะกับการเป็นแหล่งผลิตอาหาร แม้ว่าทั่วทั้งอ่าวไทยจะเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศไทยแต่จากการศึกษาพบว่าแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่
สำหรับพื้นที่อำเภอหัวไทรจากการศึกษาโดยกระบวนการเอชไอเอชุมชนพบว่าบริเวณตั้งแต่ปากน้ำหน้าโกฏิ ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง ถึง ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร ระยะทาง 5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ครอบคลุมพื้นที่ห่างจากฝั่งประมาณ5 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีน้ำลึกและอุดมสมบูรณ์ที่สุดเมื่อเทียบกับบริเวณใกล้เคียงตลอดแนวชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ดอนแอ่งกระทะคือลักษณะเฉพาะซึ่งส่งผลให้ทะเลหัวไทรมีความสมบูรณ์ที่น่ามหัศจรรย์ เห็นได้จากเรือประมงพื้นบ้านพื้นที่อำเภอหัวไทรและใกล้เคียงรวมทั้งเรือจากต่างจังหวัดเข้ามาทำการประมงในดอนแอ่งกระทะแทบทั้งหมด
ดอนแอ่งกระทะคือความมหัศจรรย์ของระบบนิเวศที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนน้ำบริเวณอ่าวหัวไทร ภายใต้ความปกติธรรมดาของชายฝั่งซึ่งมีลักษณะลาดชันลงตามระยะห่างจากชายฝั่ง แต่พื้นที่บริเวณอำเภอหัวไทรตั้งแต่ปากน้ำบ้านหน้าโกฏิ ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง ถึง ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร ระยะทาง 5 กิโลเมตรกลับมีลักษณะที่แตกต่างออกไป เพราะมีลักษณะลาดชันค่อยลึกลงไปคล้ายก้นกระทะและบริเวณขอบแอ่งกระทะซึ่งห่างจากชายฝั่งออกไปจะตื้นขึ้นอีกครั้ง กลายเป็นขอบแอ่งกระทะด้านนอก ลักษณะดังกล่าวนี้ชุมชนที่นี่เรียกว่า ‘ดอนแอ่งกระทะ’หากเราจินตนาการถึงกระทะก็จะสามารถทำความรู้จักกับดอนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ความมหัศจรรย์ของดอนแอ่งกระทะไม่ได้หมายถึงรูปลักษณ์ที่แตกต่างเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงลักษณะทางธรรมชาติทั้งหมดที่หนุนเสริมให้บริเวณพื้นที่ตรงนี้มีความอุดมสมบูรณ์แม้ว่าจะเป็นแอ่งกระทะเหมือนกันแต่ลักษณะของดินและการอาศัยของสัตว์น้ำจะมีความแตกต่างกัน ดอนแอ่งกระทะจึงเปรียบเสมือน โอเอซิสในทะเลหัวไทร
หากเราพิจารณาดอนแอ่งกระทะหัวไทรพบว่าลักษณะที่ค่อยๆลาดลงจนถึงก้นกระทะจะมีความแตกต่างของดินซึ่งเป็นลักษณะที่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างของสัตว์น้ำแต่ละชนิด
จากแผนที่พบว่าสัตว์น้ำที่สำคัญในบริเวณดอนแอ่งกระทะจะกระจุกตัวอยู่ที่ก้นกระทะเนื่องจากในบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นดินเลนขี้เป็ดซึ่งเป็นลักษณะดินที่มีการสะสมของสารอินทรีย์อยู่มาก ซึ่งเป็นผลมาจากลักษณะความลึกและการไหลวนของกระแสน้ำซึ่งไหลจากใต้ขึ้นเหนือและการไหลลงของสารอินทรีย์ เรือประมงเกือบ500 ลำจึงมากระจุกตัวอยู่ที่นี่ในระยะความยาวแค่ 5กิโลเมตรแต่สามารถหล่อเลี้ยงผู้คนมานานหลายทศวรรษ แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์อย่างแท้จริงของดอนแอ่งกระทะ