การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ: ดวงไฟแห่งความหวังในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนที่แตกร้าว

การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ: ดวงไฟแห่งความหวังในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนที่แตกร้าว

เรื่องและภาพโดย ปิยกุล ภูศรี

สนับสนุนโดย ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

“ให้คุณมีเงิน 10 ล้านบาท แต่ต้องเป็นโรคไต เอามั้ย?”

ถึงแม้คำถามที่ ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ ม.นเรศวร ถามกับผู้ร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “ชุมชนชาวกะเหรี่ยงเปื้อนพิษจากเหมืองแร่ กรณีพิษตะกั่ว บ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และกรณีพิษแคดเมี่ยม ลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสวนา “ประเทศไทยเปื้อนพิษ” ในมหกรรมการวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo 2013 จะไม่มีเสียงตอบกลับมาเป็นวาจา แต่ด้วยสีหน้า และการสั่นศีรษะของผู้ร่วมวงเสวนาทุกคนก็เป็นคำตอบที่ยืนยันว่าไม่มีใครยอมเอาเงินสิบล้านเพื่อแลกกับการเป็นโรคร้ายถึงแก่ชีวิต ข้อกล่าวหาที่ว่าชาวบ้านที่ได้รับเงินชดเชยจากกรณีพื้นที่ปนเปื้อนทั้งสองแห่งนั้น “รวยแล้ว” จึงเป็นการมองการแก้ปัญหาโดยเอา “เงิน” มาเป็นฐานคิดเพียงอย่างเดียว ซึ่งในความเป็นจริง ปัญหาพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษทำให้วงจรการดำเนินชีวิตของประชาชนในชุมชนทั้งสองแห่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากความเจ็บป่วยที่นำมาซึ่งความตาย และอาการผิดปกติของร่างกายแล้ว สารพิษยังเขียนประวัติศาสตร์ความบอบช้ำขึ้นมาใหม่ และทำให้วิถีชีวิตของชาวชุมชนทั้งสองแห่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

……….

ประชาชนในหมู่บ้านคลิตี้ล่างต้องเผชิญกับอาการเจ็บป่วยเนื่องจากการปนเปื้อนสารตะกั่วที่เกิดจากเหมืองแร่ และโรงแต่งแร่ตะกั่วที่ตั้งอยู่ทางต้นน้ำลำห้วยคลิตี้ ซึ่งถึงแม้ว่าศาลจะได้ดำเนินการกับบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ในฐานะผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่และทำให้เกิดการปนเปื้อนสารตะกั่วในแหล่งน้ำของชาวบ้านให้จ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยด้านต่างๆ ให้กับชาวบ้าน และศาลยังมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษ ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาการปนเปื้อนให้จ่ายเงินชดเชยแก่ชาวบ้านเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า และให้ดำเนินการบำบัดฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับสู่สภาพปกติแล้วก็ตามที แต่สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านคลิตี้ล่างก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่สมควรจะเป็น ห้วยคลิตี้ แหล่งน้ำที่เป็นที่เส้นเลือดสำคัญ เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหารของพวกเขายังเต็มไปด้วยสารตะกั่วปริมาณสูงเกินมาตรฐานหลายเท่า ซึ่งกรมควบคุมมลพิษยืนยันว่าจะใช้วิธีการ “ปล่อยให้ธรรมชาติบำบัดตัวเอง” เนื่องจากการสูบหรือขุดตะกอนที่ปนเปื้อนออกจะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของสารตะกั่วที่เป็นตะกอนอยู่ก้นลำห้วย พร้อมทั้งออกประกาศให้ชาวบ้าน “งดการบริโภคน้ำและปลาจากลำห้วยชั่วคราว”

ส่วนชาวบ้านจะใช้น้ำ และหาอาหารจากไหน ในพื้นที่ซึ่งอยู่กลางป่าสงวนแห่งชาติ ห่างไกลจากตัวเมืองกาญจนบุรีเกือบสองร้อยกิโลเมตร กรมควบคุมมลพิษไม่มีคำตอบให้กับคำถามนี้

……….

ลุ่มน้ำแม่ตาว จ.ตาก เคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย แต่ภายหลังจากพบว่ามีการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในข้าวจากพื้นที่นี้สูงกว่าข้าวที่ปลูกในพื้นที่อื่นของประเทศไทยกว่า 100 เท่า ทางการก็ออกประกาศให้ประชาชนในพื้นที่งดปลูกข้าวและพืชอาหาร และเก็บข้าวค้างยุ้งไปทำลายเพื่อตัดวงจรข้าวปนเปื้อนแคดเมี่ยม โดยจ่ายเงินชดเชยจำนวนหนึ่ง และรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกอ้อยเพื่อผลิตเป็นพืชพลังงาน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าสารแคดเมี่ยมเกิดจากการทำเหมืองแร่สังกะสีที่อยู่บนดอยผาแดง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของห้วยแม่ตาวแม่กุ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการปลูกข้าวของประชาชนในเขต ต.แม่ตาว

แต่วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ของภาครัฐกลับสร้างความยากลำบากให้กับเกษตรกรที่ดำรงชีวิตด้วยการปลูกข้าวมารุ่นสู่รุ่น การปลูกข้าวยังมีความสัมพันธ์กับความเชื่อดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ซึ่งมีความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติ ทำให้เกษตรกรบางส่วนยืนยันที่จะไม่ทำลายข้าวตามที่ทางราชการต้องการ และหันกลับมาปลูกข้าวตามเดิม แม้ใครจะตีตราว่าข้าวของพวกเขาเป็นข้าวเปื้อนสารก็ตามเพราะข้าวคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่เขาไม่สามารถตัดมันออกไปจากชีวิตได้

……….

ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หน่วยวิจัยเชิงบูรณาการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ซึ่งได้ร่วมกับคณะทำการวิจัยเพื่อหาวิธีการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนทั้งสองแห่ง ได้เสนอวิธีการแก้ไขโดยอาศัยหลักการวิทยาศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจ โดยสำหรับพื้นที่บ้านคลิตี้ล่าง ดร.ธนพลได้เสนอแนวทางแก้ไขการปนเปื้อนไว้สองแนวทางคือ 1) การขุดลอกตะกอนท้องน้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่วออก (Sediment Dredging) แล้วนำไปฝังกลบ และ 2) การสร้างชั้นครอบตะกอนปนเปื้อนที่ไม่สามารถขุดลอกออกมาได้ (In Situ Sediment Capping) สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว ก็สามารถใช้วิศวกรรมฟื้นฟูเพื่อลดปริมาณสารแคดเมี่ยมในดินได้สองแนวทางเช่นกัน คือ 1) การปรับปรุงโดยใช้สหวิทยาการหลายชนิดมาทำงานร่วมกัน เช่น การปลูกหญ้าแฝกซึ่งมีความสามารถในการดักจับสารแคดเมี่ยมในพื้นที่ปนเปื้อน และ 2) การกรองสารแคดเมี่ยมออกจากดินและน้ำโดยการใช้แม่เหล็ก (Magnetic – Assisted Soil Washing Prototype) ซึ่งปัจจุบัน ทีมวิจัยสามารถผลิตเครื่องต้นแบบขนาดเล็กที่สามารถใช้งานได้จริง และเตรียมดำเนินการจดสิทธิบัตร

อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษในไทยก็ยังมีข้อจำกัดอีกหลายประการ นอกจากข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ของบ้านคลิตี้ล่างซึ่งอยู่ห่างไกล และยากต่อการขนย้ายเครื่องมือหนักเข้าไปทำการฟื้นฟู หรือความกว้างใหญ่ของพื้นที่ปนเปื้อนในเขตลุ่มน้ำแม่ตาวก็ดี แต่ปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการฟื้นฟูก็คือ งบประมาณของภาครัฐที่มีอยู่จำกัด และการฟื้นฟูพื้นที่แต่ละแห่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการสูงมาก ซึ่งส่วนหนึ่งของต้นตอของปัญหาก็คือกฎหมายอุตสาหกรรมและกฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยที่ยังไม่มีมาตรการรองรับความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตในกรณีเกิดการปนเปื้อนหรือรั่วไหลของสารพิษอย่างมีประสิทธิภาพเหมือนในประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว และยังไม่สามารถ “บี้” ให้ผู้ประกอบการที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจนทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนชดเชยกับความเสียหายที่ตนเองก่อได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ (ที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ไป)

แต่ความพยายามในการค้นคว้าวิจัยของนักวิจัยไทยก็นับเป็นหลักหมายอันดีในการริเริ่มแก้ไขปัญหาพื้นที่ปนเปื้อนโดยใช้หลักวิศวกรรมฟื้นฟู เพราะการรอคอยให้ธรรมชาติฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนด้วยตัวเอง เราอาจจะได้ธรรมชาติที่ดีขึ้นกลับคืนมาในอนาคตอันใกล้ หรืออันไกล แต่เราก็อาจจะต้องแลกด้วยการสูญเสียวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของคนกลุ่มหนึ่งไปตลอดกาล

หมายเหตุ : ติดตามเทปบันทึกการเสวนารายการ HIA กับประชาชน ตอน “ชุมชนชาวกะเหรี่ยงเปื้อนพิษจากเหมืองแร่ กรณีพิษตะกั่ว บ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ และกรณีพิษแคดเมียม ลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก” ได้ทาง www.healthstation.in.th และDownload เอกสารที่เกี่ยวข้องได้ทาง www.thia.in.th