เทศกาลนิทานนานาชาติ ครั้งที่ 2: ย่อยเรื่องยาก ให้เป็นเรื่องง่าย ขยายการรับรู้ของมวลชน
เทศกาลนิทานนานาชาติ ครั้งที่ 2:
ย่อยเรื่องยาก ให้เป็นเรื่องง่าย ขยายการรับรู้ของมวลชน
เรื่องโดยปิยกุล ภูศรี, กุมภาพันธ์ 2557
ภาพประกอบโดย วรรณิศา จันทร์หอม
เรื่องราวการต่อสู้ของชาวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา อยู่ในการรับรู้ของสังคมไทยมานานนับสิบปี หลายคนอาจจะติดภาพการชุมนุมที่ดุเดือดของประชาชนในท้องถิ่นที่รวมตัวกันคัดค้านการวางแนวท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย และการต่อต้านโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีการปะทะกันระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งถูกนำเสนอผ่านสื่อ จนทำให้ภาพการต่อสู้เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านที่นี่ดูจะดุเดือดเลือดพล่านอยู่พอสมควร
แต่เมื่อวันที่ 24 – 25 มกราคม ที่ผ่านมานี้เอง ชาวจะนะก็ได้เป็นเจ้าภาพงานระดับนานาชาติงานหนึ่ง ซึ่งดูจะขัดแย้งกับภาพที่กล่าวมาข้างต้นพอสมควร นั่นก็คือ “เทศกาลนิทานนานาชาติ ครั้งที่ 2” ซึ่งจัดโดยศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ โดยมีการปิดท้ายเทศกาลด้วยคอนเสิร์ตนิทานริมชายหาดบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นชายหาดผืนสุดท้ายของจังหวัดสงขลา โดยมีการเล่านิทานจากนักเล่านิทานนานาชาติกว่า 14 ประเทศ ร่วมกับนักเล่านิทานพื้นบ้านจะนะ และการแสดงของนักเรียนในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
แล้วการเล่านิทานจะมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชนของคนจะนะได้อย่างไร?
คุณกิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ในฐานะคนที่ทำงานต่อสู้เรื่องสิทธิการจัดการทรัพยากรในชุมชนของคนจะนะมาโดยตลอดให้ความกระจ่างว่า “ชาวจะนะต่อสู้มานาน เราต่อสู้กับอำนาจรัฐและการพัฒนาที่ไม่สนใจวิถีชีวิตของชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมมาเป็น 10 ปี เรามีการทำข้อมูลสิ่งแวดล้อม และข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพ ชีวิต และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง แต่ทีนี้ข้อมูลของเรามันอาจจะยังนำเสนอไม่โดนใจชาวบ้านในชุมชน เพราะมันเป็นรายงานในเชิงวิชาการไปซะเยอะ ก็พอดีที่กลุ่มมะนาวหวานได้เข้ามาทำงานเกี่ยวกับนิทานในพื้นที่นี้ ผมได้ดูการแสดงละครและการเล่านิทานของเขาก็รู้สึกถูกใจ เลยลองเอาข้อมูลเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะ ผลกระทบที่เราได้รับ และเรื่องวิกฤติอาหารมาเล่าในรูปแบบนิทาน ก็พบว่ามันได้ทำลายกำแพงการรับรู้ของชาวบ้านในพื้นที่ ชาวบ้านเปิดใจรับรู้ ให้ความสนใจ และมีความเข้าใจสภาพความเป็นจริงและปัญหาของบ้านตัวเองมากขึ้น
พวกข้อมูลหนักๆ เรามีเยอะแล้ว แต่เอาไปคุยกับชาวบ้านเขาก็อาจจะไม่เข้าใจ พอมาเป็นนิทานมันก็ช่วยสร้างความเข้าใจได้ ซึ่งรวมไปถึงเด็กๆ ครู ข้าราชการในพื้นที่ด้วย เพราะนิทานมันเข้าถึงคนทุกกลุ่ม ตัวผมเองเด็กๆ ก็ฟังนิทานจากพ่อ เรื่องเล่าในชุมชนและการเล่าเรื่องมันมีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน พอเราเอาข้อมูลที่เรามีมาถ่ายทอดในรูปแบบของเรื่องเล่า มันก็สร้างความรู้สึกร่วมให้เกิดขึ้นได้ในชุมชนที่แบ่งปันเรื่องเล่าเดียวกัน ซึ่งนิทานของประเทศอื่น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง การเคารพธรรมชาติ และประเพณีวัฒนธรรมเช่นกัน”
“ตอนนี้ทุกคนในจะนะลุกขึ้นมากำหนดอนาคตของตัวเองแล้ว เพราะเราเห็นแล้วว่าผลกระทบมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ถ้าปล่อยไปมันก็คงแย่กันหมด โดยเรื่องแรกๆ ที่ชาวบ้านเริ่มให้ความสนใจคือเรื่องผังเมือง ซึ่งภาครัฐจะเปลี่ยนให้เป็นสีม่วงหรือพื้นที่ประกอบอุตสาหกรรม แต่ชาวบ้านต้องการให้จะนะเป็นเมืองแห่งการศึกษา เมืองแห่งความมั่นคงทางอาหาร หรือเมืองแห่งนกเขาของโลก เพราะนกเขาของเรามีชื่อเสียงมาก ซึ่งการจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้นต้องอาศัยกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยใช้ข้อมูลจากแต่ละพื้นที่มาประกอบกัน” คุณกิตติภพทิ้งท้าย
ด้าน น้องมิน-ขวัญฤทัย ปานนุ้ย จากกลุ่มมะนาวหวาน กล่าวถึงประสบการณ์ในการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนิทานนานาชาติว่า “กลุ่มมะนาวหวานเป็นกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและชุมชน ซึ่งทำงานร่วมกับศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ พอทราบว่าจะมีการจัดงานเทศกาลนิทานนานาชาติก็เลยมาช่วยงานด้วย โดยมีส่วนร่วมในการวางแผน การติดต่อกับโรงเรียน ครู และนักเรียนให้มาเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งในงานนี้ก็มีกิจกรรมการเล่านิทานและการแสดงของเด็กในพื้นที่ด้วย โดยส่วนตัวแล้วชอบการเล่านิทานจากอินโดนีเซีย โดยเป็นเรื่องราวของพี่น้องสองคนที่คนหนึ่งขยัน แต่อีกคนขี้เกียจ ซึ่งบทสรุปก็คือคนที่ขี้เกียจก็จะได้รับผลที่ไม่ดี ซึ่งน้องอายุ 15 ปีที่มาเล่านิทานมีการใช้การแสดงมาประกอบ โดยมีการรำในเครื่องแต่งกายของอินโดนีเซียประกอบการเล่าไปด้วย ซึ่งการทำงานของกลุ่มของเราก็จะใช้นิทานเป็นสื่อกลางเพื่อขยายความร่วมมือในการทำงานร่วมกับเด็ก เยาวชน และชุมชนต่อไป”
คุณวรรณิศา จันทร์หอม เจ้าหน้าที่จากศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน กล่าวเพิ่มเติมถึงการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน หรือ CHIA ว่า “ชาวประมงในพื้นที่จะนะเริ่มทำข้อมูลเพื่อให้เป็น CHIA ตั้งแต่ปี 2555 และยังคงทำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากท้องทะเลที่นี่มีความสมบูรณ์มาก มีการพบโลมา และมีเต่ามาวางไข่ ซึ่งเป็นดรรชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี หากมีโครงการท่าเรือน้ำลึกเข้ามาในพื้นที่ก็จะเกิดผลกระทบเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างแน่นอน เพราะโรงไฟฟ้า และโรงแยกก๊าซที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอยู่แล้ว ตอนนี้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลก็ขยายจากในทะเลขึ้นมาบนบกด้วย เพราะชุมชนเริ่มตื่นตัวกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นมากขึ้น
ก่อนหน้าที่จะมีเทศกาลนิทานนานาชาติศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ร่วมกันกับกลุ่มเด็กคิดจัดอบรมนิทานกับครูในโรงเรียนใน อ.จะนะ ขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นทางศูนย์ฯ ได้ไปเรียนรู้การจัดงานนิทานโลกที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แล้วเกิดความคิดที่อยากจะทำให้เกิดเวทีเล่านิทานจากนานาประเทศเช่นนี้บ้าง
ในเทศกาลนิทานนานาชาติ เราก็ได้เอาข้อมูลที่เรามีอยู่มาเล่าในรูปแบบนิทาน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักของเราคือเด็ก ก่อนหน้านี้เรามีการฝึกอบรมครูเรื่องการเล่านิทาน แล้วที่โรงเรียนครูก็เอาไปสอนเด็กต่อ เทศกาลนิทานนานาชาติจึงเป็นเวทีให้เด็กได้แสดงความสามารถ ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราว ข้อมูลและแรงบันดาลใจกับเพื่อนๆ ที่มาจากประเทศต่างๆ และก็ทำให้เยาวชนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่นของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น เพราะถ้าเราเล่าให้เด็กฟังในรูปแบบข้อมูลดิบๆ เด็กก็จะเข้าใจยาก แต่พอมาเล่าในรูปแบบนิทานแล้วก็จะเข้าใจได้ง่ายและดียิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าผลตอบรับจากการจัดงานก็น่าพอใจ โรงเรียนและบุคลากรในโรงเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็ให้ความสนใจ และนำไปทำอย่างต่อเนื่อง”
นิทาน จึงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการนำเสนอข้อมูลให้เข้าสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเยาวชนนี่เองที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพิทักษ์รักษาสิทธิอันพึงมีพึงได้ของชุมชนต่อไปในอนาคต