มองเขา-มองเรา บันทึกการแลกเปลี่ยน บทเรียนเรื่องถ่านหินจากอินโดนีเซีย

 มองเขา-มองเรา บันทึกการแลกเปลี่ยนบทเรียนเรื่องถ่านหินจากอินโดนีเซีย

เรื่องปิยกุล ภูศรี
ภาพ คำพัน สุพรม

          “ถึงเราจะมีปัญหาเรื่องถ่านหิน แต่ก็ยังรู้สึกว่าประเทศไทยยังโชคดีนะ…”
          พี่คำพัน สุพรม หรือพี่กุ้ง กล่าวประโยคที่ชวนให้เกิดคำถามต่อไปว่า ‘โชคดี’ ที่พี่กุ้งเอ่ยถึงนั้นคืออะไร? เพราะหลายต่อหลายพื้นที่ในประเทศไทยต่างกำลังเผชิญหน้ากับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมที่มีแหล่งพลังงานเจ้าปัญหาชื่อว่า ‘ถ่านหิน’ เป็นผู้นำเข้ามา ซึ่งเราก็คงทราบกันดีว่ามลพิษจากถ่านหินได้เข้าไปสร้างความเสียหายให้กับวิถีชีวิตท้องถิ่น และก่อปัญหาทางสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม จนทำให้ความเป็นอยู่และประวัติศาสตร์ของชุมชนเหล่านั้นต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล โดยที่การเยียวยาจากผู้ก่อผลกระทบแทบจะไม่ได้ช่วยปัญหาดีขึ้นแต่อย่างใด
          พี่กุ้ง เป็นตัวแทนนักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และเป็นหนึ่งในสี่ชาวไทยที่ได้มีโอกาสไปร่วมการประชุมด้านถ่านหินระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในชื่องาน First Southeast Asia Regional No Coal Meeting ซึ่งจัดขึ้นที่กาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 18 – 21 กุมภาพันธ์ 2557 ร่วมกับตัวแทนชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการใช้ประโยชน์จากถ่านหินในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ลำปาง ตรัง และฉะเชิงเทรา โดยเป็นการประชุมที่จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสถานการณ์เกี่ยวกับถ่านหินในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการข้อมูลและการสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชนในท้องถิ่นที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงาน
          พี่กุ้งกล่าวถึงบรรยากาศในการประชุมว่า “ในช่วงแรกของการประชุมจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละพื้นที่ คือเราก็จะมาคุยกันว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะหยุดการเข้ามาของถ่านหิน ซึ่งแต่ละประเทศก็จะได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่เหมือนๆ กัน แต่เขาไม่สามารถสื่อสารออกไปได้ว่ามันเกิดอะไรอย่างไร ในวันที่สอง ก็จะให้แต่ละประเทศเอาสื่อมาแลกเปลี่ยนกันว่าคนที่ทำงานในพื้นที่ได้ทำการสื่อสารปัญหาที่เกิดขึ้นออกให้สังคมรับรู้อย่างไร ด้วยวิธีการใด และในวันสุดท้ายก็จะให้แต่ละประเทศลองวางแผนเพื่อลดการขยายตัวของถ่านหินในพื้นที่ของตัวเอง”


         “ในส่วนของประเทศไทย ตัวแทนจาก จ.กระบี่ ก็ได้ทำลำดับเหตุการณ์ (timeline) ของเหมืองบ้านปูว่าเหมืองนี้มีแหล่งทุนมาจากไหน มีกระบวนการทำงานอย่างไร ถ่านหินที่ได้ถูกนำไปป้อนที่ไหน คือดูว่าเส้นทางการเดินทางของเหมืองนี้มันเริ่มต้นและไปจบที่ไหน ซึ่งเราก็พบว่ามันเป็นเหมืองเปิด อยู่ใกล้แหล่งผลิตอาหารของชาวบ้านแถวนั้น ซึ่งน้ำที่ใช้ในการทำเหมืองก็เป็นแหล่งเดียวกับน้ำที่ชาวบ้านใช้เพื่อการชลประทาน เหมืองก็ระบายน้ำทิ้งที่เหลือจากการทำเหมืองลงสู่แหล่งน้ำเดิม น้ำที่ปนเปื้อนก็เข้าสู่ระบบชลประทาน เข้าสู่แปลงนา ผลผลิตข้าวของชาวบ้านก็ลดลง แต่ชาวบ้านก็เรียกร้องเอาอะไรจากรัฐไม่ได้ เขาแค่เรียกร้องขอปุ๋ย หรือสารเพิ่มผลผลิตเพื่อจะเอามาใช้ชดเชยผลผลิตที่มันลดลงไป แต่รัฐก็ไม่ได้จัดให้เขา ภาษีที่เก็บจากการทำเหมือง แทนที่ท้องถิ่นนั้นควรจะได้นำไปพัฒนาหรือฟื้นฟูพื้นที่ของตัวเองแต่ชาวบ้านก็ไม่ได้รับผลประโยชน์จากภาษีนี้เลย คือชาวบ้านเรียกร้องอะไรทั้งจากภาครัฐและผู้ประกอบการไม่ได้เลย ก็เลยต้องต่อสู้กันต่อไป”


         แล้วความโชคดีที่ว่า คืออะไร? พี่กุ้งเฉลยไว้อย่างน่าสนใจ โดยเปรียบเทียบสถานการณ์ที่ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนกำลังเผชิญหน้าอยู่ “ที่ว่าประเทศไทย ‘โชคดี’ ก็เพราะว่า เรายังมีกระบวนการทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม และกฎหมายสุขภาพ (พรบ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550) เป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านใช้ต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง อย่างที่เขาหินซ้อนที่ต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราก็ใช้ CHIA : Community Health Impact Assessment หรือเอชไอเอชุมชน มาเป็นเครื่องมือต่อสู้ นักเคลื่อนไหวของอินโดนีเซียเขาก็อยากรู้ เลยขอให้เราจัดกลุ่มย่อยหลังโปรแกรมหลัก ซึ่งเราก็ได้ความรู้จากเราในเรื่องนี้ แต่ประเทศของเขาไม่มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแบบของเรา
         อย่างที่เขาหินซ้อนเราสู้มา 5 ปีแล้ว และก็ยังสู้อยู่ เมื่อก่อนเราก็ต่อสู้ด้วยวิธีการปิดถนนหรืออะไรแบบนั้นแต่มันก็ไม่เป็นผล เราเลยขอความช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เราก็เลยหันมามองเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เพราะทุกคนต้องกินอาหาร ทีนี้ชุมชนก็ต้องเรียนรู้ ต้องหาข้อมูล เพื่อสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ซึ่งนักวิชาการหรือคนที่รู้ข้อมูลก็มาช่วยเหลือเรา เราไปคุยกับผู้บริโภคว่าถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ อาหารสะอาดที่เราเคยกินมันก็อาจจะไม่มีแล้ว มันอาจจะไม่ปลอดภัยที่จะกินได้เหมือนเดิม ผู้บริโภคก็จะรู้สึกว่าเรื่องถ่านหินมันเป็นเรื่องใกล้ตัวเขาแต่อย่างที่อินโดนีเซีย เราได้เห็นภาพความจริงที่น่าตกใจ อย่างบ้านเราสะพานลอยทำไว้ให้คนเดินข้าม แต่ที่นั่นสะพานลอยเขาทำไว้ให้ขนถ่านหินลงเรือ ขณะที่เราเดินอยู่ริมแม่น้ำแต่บนหัวเรามันเป็นสะพานขนถ่านหิน แล้วรถขนถ่านหินก็สัญจรร่วมกับรถคันอื่นบนถนน ซึ่งเราไม่อยากให้พื้นที่ของเราเป็นแบบนั้น”


         การทำงานเพื่อปกป้องแหล่งอาหารในพื้นที่ให้ยังเป็นแหล่งาหารที่สมบูรณ์ต่อไปโดยไม่ถูกเบียดเบียนจากการพัฒนาที่อาจทำลายอู่ข้าวอู่น้ำของประชาชนทั้งในท้องถิ่นและในพื้นที่ใกล้เคียงอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีกฎหมายและเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วยในการทำงาน แต่การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มทุนก็เป็นเหมือนหนังชีวิตเรื่องยาวที่ไม่มีใครรู้ตอนจบ แต่อย่างไรก็ดี พี่กุ้งก็ทิ้งท้ายให้เรามีกำลังใจในการต่อสู้ต่อไป เพราะในการต่อสู้ครั้งนี้ ชาวบ้านไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพังเหมือนที่เคยเป็นมาอีกแล้ว แต่ยังมีแนวร่วม เครือข่าย ความรู้ และ หัวใจที่เข้มแข็ง เป็นเหมือนอาวุธที่จะใช้ต่อสู้และต้านทานการพัฒนาที่ชาวบ้านไม่ต้องการได้อย่างแข็งขันและมีประสิทธิภาพ
         “หลังจากการประชุมและได้แลกเปลี่ยนกับประชาชนในประเทศอาเซียนที่ประสบปัญหาเหมือนเรา เราก็จะนำเอาภาพความจริงที่เราเห็นไปบอกกับเครือข่ายต่อต้านถ่านหิน เพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว พื้นที่ผลิตอาหารจะต้องอยู่ในมือของเกษตรกร เพื่อผลิตอาหารที่ดี ที่สะอาด ให้ลูกหลานเราต่อไป การที่เราเข้ามาทำงานตรงนี้ตลอด 3 ปี สิ่งที่เราได้มากกว่าตัว          

          รายงาน CHIA ก็คือ ‘เพื่อน’ เราได้พลังเพิ่มขึ้นจากเพื่อนในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นกำลังใจให้เรา ให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เราขยายเครือข่ายจากระดับพื้นที่ไปเป็นสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน และจะขยายไปสู่เครือข่ายระดับภาคตะวันออก เพราะภาคตะวันออกได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเยอะมาก การทำงานตรงนี้ทำให้เราเห็นคุณค่าของพื้นที่ของเรา และนั่นทำให้เราต้องต่อสู้เพื่อที่ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้คุณค่านี้มันอยู่คงทนต่อไปจนถึงชั่วลูกชั่วหลาน”
เพราะถ้าเรามีกำลังใจที่เข้มแข็ง ในเรื่องร้าย จะต้องมีแง่มุมของเรื่องดีๆ อยู่เสมอ…หากไม่ท้อถอย