เดินทางไกล ไปชิลี (ตอนที่ 2)

                          เดินทางไกล ไปชิลี (ตอนที่ 2)

                           โดย อำพล จินดาวัฒนะ

 

                              IAIA 2014 (2)

            “การประเมินผลกระทบ” ในที่นี้ หมายถึงการประเมินผลกระทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(Environmental impact) ผลกระทบด้านสังคม (Social impact) ผลกระทบด้านสุขภาพ (Health impact) หรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจ (Economic impact) เป็นต้น

            สมาคมนี้ทำงานเรื่องนี้ต่อเนื่องมานานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว สมาชิกมีทั้งที่ทำงานประเมินผลกระทบทั้งระดับนโยบาย ระดับแผน ระดับชุดโครงการ และระดับโครงการที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจมากมายมหาศาล และที่ทำงานพัฒนาวิชาการ งานที่ทำในลักษณะมืออาชีพเหล่านี้ จึงมีรายได้มากตามไปด้วย การจัดประชุมวิชาการประจำมีจึงมีแหล่งสนับสนุนทุนไม่น้อย แต่เขาก็ยังเก็บค่าสมาชิกและค่าลงทะเบียนร่วมประชุมที่แพงเอาการ

            ที่พวกเราไปร่วมประชุมก็เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ.) นั่นเอง ไปเพื่อเรียนรู้แนวคิดและเทคนิควิธีการใหม่ๆ ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์นานาชาติ และไปสร้างเครือข่ายการทำงานในระดับสากล เพื่อเสริมการพัฒนางานเอชไอเอ.ในบ้านเรา ตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 นั่นเอง 

            แต่ก็พบว่า เรื่องเอชไอเอ. เป็นแค่เรื่องเล็กๆ ในวงการประเมินผลกระทบที่กว้างใหญ่ไพศาล

            ปีนี้เขาเน้นเรื่องการประเมินผลกระทบเพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ มีผู้เข้าร่วมประชุมเกือบ 1,000 คน

            เมื่อพูดถึงการประเมิน ภาษาไทยเราใช้คำเดียว แต่ภาษาอังกฤษมี 2 คำ คือ Assessment กับ Evaluation ซึ่งมีความหมายต่างกัน

            กล่าวโดยง่ายคือ Assessment มีความหมายไปทางการประเมินล่วงหน้าเพื่อคาดผลที่อาจเกิดตามมา คุณหมอวิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) เรียกว่า “การคาดประเมิน” เช่น การประเมินผลกระทบ (Impact assessment) การประเมินความเสี่ยง (Risk assessment) เป็นต้น ซึ่งมีวิธีการที่แตกต่างกันไปได้มาก การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment) หรือเอชไอเอ.ก็เป็นวิธีการหนึ่งของการประเมินผลกระทบ

            ส่วน Evaluation มักหมายถึงไปในทางการประเมินสิ่งที่กำลังดำเนินการไป หรือเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วเช่น การประเมินผลโครงการ การประเมินผลการทำงานขององค์กร เป็นต้น ซึ่งมีวิธีการมากมายเช่นกัน เช่น การประเมินผลภายใน การประเมินผลภายนอก การประเมินผลแบบเสริมพลังอำนาจการประเมินผลแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งในวงจรการทำงานทุกเรื่องนั่นเอง

            เราได้มีโอกาสพบศาสตราจารย์ Richard Morgan ชาวนิวซีแลนด์ นักวิชาการคนหนึ่งผู้เป็นเครือข่ายกับเอชไอเอ.ของบ้านเรามานานกว่า 10 ปี เคยมาร่วมงานที่เมืองไทยหลายครั้ง อดีตเคยเป็นประธาน IAIA ทำให้ได้เรียนรู้หลายเรื่อง ได้ออกปากชวนให้ร่วมเรียนรู้กับบ้านเราอีกในอนาคต


            เมื่อได้เห็นพัฒนาการของ IAIA ที่ยาวนานทำให้สังเกตเห็นว่า คนตะวันตกมีนิสัยชอบพัฒนาวิชาการมากไปพร้อมกับการทำงาน คือทำงานโดยใช้ความรู้และทำงานไปสร้างความรู้ใหม่ไปด้วย อย่างเรื่อง IA มีนักวิชาการและผู้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นเครือข่ายใหญ่ มีการวิจัย มีการปฏิบัติการ และจัดการความรู้ มีการจัดเวทีวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง มีการตั้งคำถาม ตรวจสอบสิ่งที่ทำ จัดหมวดหมู่ความรู้ สร้างเป็นองค์ความรู้ ยกระดับองค์ความรู้ให้แตกแขนงออกไปเรื่อยๆ

            เรียกว่ามี “วัฒนธรรมความรู้” อยู่ในวิถีการทำงานทั่วไป

            คนบ้านเรา ชอบปฏิบัติ ที่เรียกว่า”นักปฏิบัตินิยม” ไม่ค่อยชอบความรู้ คิดและทำอะไรๆกัน มักมีความไม่ชัดเจน หรือมีความคลุมเครืออยู่เสมอๆ ไม่ค่อยชอบตั้งคำถาม จึงไม่ค่อยชอบหาคำตอบอย่างเป็นระบบและมีหลักวิชาการ อาจารย์ประเวศ วะสี เคยบอกว่า คนไทยเราชอบ ”มั้งศาสตร์”  ซึ่งเป็นจุดด้อยที่ต้องเรียนรู้และแก้ไขกันไปอีกต่อไปหลายชั่วอายุคน

            ผมได้เข้าฟังการนำเสนองานเอชไอเอ.ของทีมนักวิชาการจากสหรัฐอเมริกาเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับการทำเอชไอเอ.ในชุมชน ที่บริษัทขุดเจอน้ำมันมีโครงการจะเจาะน้ำมันที่กลางชุมชนซึ่งอยู่ริมทะเล จึงมีความขัดแย้งกับชาวบ้านในชุมชนมานาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ตัดสินใจไม่ได้

            จึงมีการจ้างทำเอชไอเอ.อย่างเป็นระบบ โดยมีขั้นตอนดังนี้ การกำหนดขอบเขตการประเมิน (Public scoping) การให้สาธารณะได้ร่วมทบทวนขอบเขตและกำหนดข้อห่วงใย (Public reviewing) การลงมือคาดประเมินด้วยวิธีต่างๆ (Assessing) มีการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ มีการสำรวจความเห็นทาง on line มีการรับฟังข้อมูลและความรู้วิถีชาวบ้าน แล้วทำการสรุปผล โดยสาธารณะมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน

            ฟังแล้วก็คิดถึงกระบวนการเอชไอเอ.ที่เราพยายามพัฒนาและสนับสนุนในเมืองไทย ซึ่งของเราก็ยังอยู่ในระหว่างการสร้างความเข้าใจ การทดลองทำและพัฒนาต่อเนื่อง ยังต้องใช้เวลาเรียนรู้ร่วมกันไปอีกนานพอสมควร จนกว่าเรื่องเช่นนี้จะกลายเป็นวิถีปกติของการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ต้องให้ความห่วงใยต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตของผู้คน ชุมชนและสังคมไปพร้อมๆกับการมองประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

            ผมคิดถึงการทำ “เอชไอเอ.ชุมชน” (community-driven HIA) ของชาวบ้านที่ท่าศาลา นครศรีธรรมราช (ได้รับรางวัลสมัชชาสุขภาพอะวอร์ด ปี 2556) ซึ่งมีความงดงามมากทีเดียว เพราะเป็นมุมการทำเอชไอเอ. แบบที่ชาวบ้านเป็นคนลงมือทำกันเอง และทำโดยให้ความสนใจทั้งเรื่องสุขภาวะของสังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรม การอาชีพ เป็นการมองขยายเรื่องสุขภาพไปสู่เรื่องสุขภาวะ ควรที่จะหานักวิชาการไปช่วยชุมชนท่าศาลาจัดการความรู้ ถอดบทเรียนออกมาเป็นงานวิจัยปฏิบัติการ 

            เพราะเอชไอเอ.ชุมชน ที่นั่น เขาไม่ได้ทำรามตำราวิชาการล้วนๆ แต่พวกเขาทำแบบ “เอชไอเอ.ชุมชนที่มีชีวิต”

  

                                                        

                                                         ได้อะไรกลับบ้าน?

            ชีวิตเราที่ผ่านไปแต่ละวัน มีโอกาสเรียนรู้เพิ่มขึ้นทุกวัน เราเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ไปชิลีคราวนี้ ก็ได้เรียนรู้ เก็บมาคิดต่อตามสมควร

เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของ สช. คือการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วม ตามแนวทางประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เราก็ต้องทำกันต่อไปอีกยาวนาน

            ที่ผ่านมา 2 ทศวรรษ งานเอชไอเอ.ในเมืองไทยมีความก้าวหน้าไม่น้อย มีภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก มีการขยายงานทั้งระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับประเทศและการเชื่อมกับนานาชาติพอสมควร เราจะหาโอกาสชวนเพื่อนภาคีที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันทบทวนการทำงานที่ผ่านมาและร่วมกันมองทิศทางที่ควรเป็นไปในอนาคต

            สำหรับการเชื่อมโยงการทำงานและการพัฒนาวิชาการและศักยภาพคนและองค์กรกับนานาชาติ เรามอง 4 ระดับ และหนึ่งแนวทางคือ

            1.การเชื่อมโยงกับประเทศอาเซียนเพื่อร่วมกันพัฒนาเอชไอเอ. ซึ่งมีการเริ่มต้นและร่วมกันทำงานอยู่แล้ว จะต้องยกระดับให้เข้มแข็งและเป็นรูปธรรมต่อไป

            2.การเชื่อมโยงกับเครือข่ายภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกที่เราเคยรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการไปครั้งหนึ่งเมื่อปี 2552 ก็ควรมีการขยายความร่วมมือต่อไป

            3.การเชื่อมโยงระดับที่กว้างกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมงานกับเครือข่ายเอชไอเอ.นานาชาติ ที่ล่าสุดจัดประชุมวิชาการที่ประเทศแคนาดาเมื่อ 2 ปีก่อน รวมทั้งการเชื่อมโยงกับเครือข่าย IAIA ในระดับที่เหมาะสม เพราะเครือข่ายนี้เขาทำงานเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทุกด้าน ซึ่งกว้างกว่าเรื่องเอชไอเอ.อย่างมาก

            4.ยกระดับเชื่อมโยงการทำงานกับองค์การอนามัยโลก ภายใต้แนวคิดเรื่อง “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” หรือ Health in All Policy (HiAP) ที่รวมเรื่องการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและรวมการใช้เครื่องมือพัฒนานโยบายต่างๆ เช่น เอชไอเอ. และสมัชชาสุขภาพ อยู่ด้วย

            อีกส่วนหนึ่งที่ต้องทำคือการขยายความร่วมมือกับองค์กรต่างๆในต่างประเทศเพื่อพัฒนาคนและพัฒนาวิชาการร่วมกัน ซึ่งในส่วนนี้มีการเชื่อมโยงอยู่บ้างแล้ว เช่นที่ Coady International Institute ภายใต้มหาวิทยาลัยSaint Francis Xavier University ประเทศแคนาดา และที่มหาวิทยาลัย Kumamoto Gakuen University ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

            ในปลายปี 2557 นี้ สช. จะจัดประชุมวิชาการเอชไอเอ.ในประเทศเพื่อทบทวนงานบทเรียนที่ผ่านมาจัดการความรู้ และต่อยอดการพัฒนาวิชาการเอชไอเอ.ในบ้านเรา โดยจะชวนเพื่อนในเครือข่ายงานเอชไอเอ. มาร่วมกันทำงานนี้ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายสากลด้วย

            นอกจากเรื่องเกี่ยวกับงานโดยตรงแล้ว การได้เดินทางไปเรียนรู้โลกกว้าง ทำให้ได้มุมมองต่อสังคมและโลกเพิ่มขึ้นบ้าง ประเทศชิลีมีสภาพภูมิประเทศและที่ตั้งอยู่ยากลำบากท่ามกลางภัยธรรมชาติที่รุนแรงหนักหน่วงกว่าบ้านเรามาก ประเทศไทยมีชัยภูมิที่ดีมาก มีความอุดมสมบูรณ์ ถ้าเรารู้จักวางแผนพัฒนาให้สอดคล้องกับจุดแข็งของประเทศ คือการพัฒนาเชิงเกษตรยั่งยืนทุกประเภท การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนใครๆ ก็อยากมาเที่ยวเมืองไทย อยากกินอหารไทย อยากรู้จักเมืองไทย ประเทศเราจะไปได้ไกลและไปได้นาน เราไม่ควรมุ่งพัฒนาตามกระแสทุนนิยมแบบเห็นเงินตาโต เอามาก เอาเร็ว แต่ไม่ยั่งยืน

            ในท่ามกลางภัยธรรมชาติที่รุนแรง แต่คนของเขามีน้ำใจไมตรีจิตดี มีความเป็นมิตรสูง บ้านเราเคยเป็น “สยามเมืองยิ้ม” ซึ่งเป็นจุดแข็งเช่นกัน แต่เดี๋ยวนี้เหือดหายไปเกือบมาก หลังจากที่เรารับเอาการพัฒนาแบบเอาเงินเป็นตัวตั้งตามกระแสทุนนิยม ที่มุ่งเอามาก เอาเปรียบกันและกัน

            เราควรจะหันกลับมาคิดตระหนักและพลิกฟื้นในเรื่องเหล่านี้ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกิน