เผยมติร่วม ชี้ทาง (รอด) โรงไฟฟ้าชีวมวล
ชี้ชัด “โรงไฟฟ้าชีวมวล” ทิศทางพลังงานประเทศไทย
เนื่องด้วยแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกร้อยละ 25 ใน 10 ปี (พ.ศ. 2555 –2564) กำหนดให้เพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 25 ของพลังงานที่ใช้ภายในประเทศภายในปี 2564 โดยกำหนดเป้าหมายพลังงานชีวมวลในการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 3,630 เมกะวัตต์ ซึ่งประเทศไทยมีชีวมวลจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทั้งหมด 48,000 ตัน เชื่อว่าสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 9,630 เมกะวัตต์ ดังนั้น“โรงไฟฟ้าชีวมวล” จึงกลายเป็นทิศทางพลังงานของประเทศ
ทั้งนี้การดำเนินโครงการไฟฟ้าชีวมวลกลับก่อให้เกิดปัญหากับคนในท้องที่ต่างๆ กว่า 8 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ ร้อยเอ็ด ยะลา สุรินทร์ เชียงราย สระแก้ว ปราจีนบุรี อุบลราชธานี ตาก เป็นต้น ด้วยสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศในพื้นที่เสื่อมโทรม ถดถอยลง มีปริมาณฝุ่นละอองจำพวกขี้เถ้าจากการเผาไหม้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ไม่สมบูรณ์ เกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น เกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ จาก รวมทั้งเกิดน้ำเสียและแย่งน้ำชุมชนใช้ เนื่องจากเป็นกิจการที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก และทำให้ถนนในชุมชนชำรุดเสียหายจากรถบรรทุกที่ใช้ในการขนพืชชีวมวลเข้าสู่โรงไฟฟ้า เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ รวมถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในท้องถิ่น
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเด็น “โรงไฟฟ้าชีวมวล” จึงกลายเป็นหัวข้อที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาร่วมแลกเปลี่ยน อภิปราย ถกเถียงจากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ตลอดจนประชาชนในพื้นที่
คุมเข้ม “มาตรฐานโรงไฟฟ้า” ถ้วนหน้า
ข้อมูลสำคัญของกระทรวงพลังงานระบุว่า จำนวนโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งที่อยู่ในกระบวนการเริ่มต้นพิจารณา ที่ได้รับตอบรับจากรัฐ และที่ลงนามในสัญญาว่า มีทั้งสิ้น 306 โครงการทั่วประเทศ ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือ โรงไฟฟ้าฯ จำนวนมากถึง 297 โรง เป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 10 เมกะวัตต์จึงไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้หลีกเลี่ยงการทำEIAโดยสร้างโครงการให้มีขนาด 9.0-9.9 เมกะวัตต์หลายโครงการในบริเวณเดียวกันจำนวนมาก ซึ่งนักวิจัยด้านพลังงานได้ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ของโรงไฟฟ้าเหล่านี้เองที่สร้างปัญหาให้แก่ชุมชน เนื่องจากยังขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเน้นการเผาตรง(directed burning) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพต่ำและสร้างมลพิษสูง
เผยมติร่วม พร้อมดันเข้าวาระสมัชชาสุขภาพฯ
หลายฝ่ายจึงเห็นว่าชีวมวลเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่สำคัญของประเทศไทย แต่ยังมีปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีมาตรการและแนวทางป้องกันและควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพที่ดี รวมถึงแนวทางและพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการกำหนดพื้นที่อย่างชัดเจน
“โรงไฟฟ้าชีวมวล” จึงตกเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องนำเข้าเป็นหนึ่งในวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยล่าสุดคณะกรรมการได้ยกร่างเพื่อส่งลูกต่อให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ ดังนี้
1. ประกาศ : โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นกิจการที่อันตรายต่อสุขภาพ การสร้างและประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลในทุกขนาดจำเป็นต้องมีแผนป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพ
2. ป้องกัน : โดยขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาตินำเสนอการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวลต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ
2.1 ประวิงเวลา : โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประวิงเวลาการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าและปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาต ดังต่อไปนี้
(1) สอดคล้องกับผังเมือง : พิจารณาถึงตำแหน่งที่ตั้งโรงไฟฟ้า ให้สอดคล้องกับผังเมืองและกำหนดระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชน สาธารณะสถาน และแหล่งน้ำสาธารณะ
(2) สืบสวนศึกษาผลต่อสุขภาพ : กำหนดให้ต้องศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพในขั้นตอนการอนุมัติอนุญาต โดยใช้แนวทางที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
(3) เสาะหาและจัดทำมาตรฐาน : หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำมาตรฐานระดับมลพิษที่ปล่อยออกจากปล่องโรงไฟฟ้า คุณภาพเชื้อเพลิง เตาเผา และอุปกรณ์ดักมลพิษสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล
(4) สนับสนุนให้มีการพัฒนา : หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีมลพิษต่ำ
(5) สานต่อจัดทำแผน : สำหรับโรงไฟฟ้าที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ให้สานต่อ จัดทำแผนการลดผลกระทบ และเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย
2.2 ปกปักษ์: โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อกำหนดท้องถิ่นเพื่อควบคุมกิจการประเภทนี้ ปกปักษ์คนในท้องถิ่น และให้เผยแพร่ข้อมูลและความรู้เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพที่ถูกต้องแก่สังคม
2.3 ประสานงาน : ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นหน่วยงานหลัก ประสานงานและทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนจากผู้ผลิตไฟฟ้า ผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้แทนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบและผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงาน
ทั้งนี้ให้แต่ละภาคส่วนดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดแนวทางและพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการกำหนดพื้นที่ และมาตรการควบคุมทางพื้นที่สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล และปรับปรุงบัญชีประเภทอุตสาหกรรมประเภทกิจการโรงไฟฟ้า ให้แบ่งเป็นประเภทย่อย เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดมาตรการทางพื้นที่และผังเมืองในการป้องกันผลกระทบ
2.4 ปรับปรุง : โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ปรับปรุงและพัฒนาคู่มือรวมถึงแนวทางศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล
ร่างมติฉบับนี้กำลังจะเดินหน้าเข้าสู่วาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติช่วงปลายปี พ.ศ.2555 เพื่อตอบโจทย์ข้อต่อไปว่า แต่ละชุมชนจะจัดการดูแล “โรงไฟฟ้าชีวมวล” อย่างไร เมื่อคำตอบสุดท้ายของพลังงานทางเลือกยังคงเป็น “โรงไฟฟ้าชีวมวล”
ทั้งนี้ “โรงไฟฟ้าชีวมวล” ยังไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปสำหรับทุกบริบทเงื่อนไข ทุกชุมชน ดังนั้นผู้เกี่ยวข้อง หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐาน พัฒนา สร้างสรรค์ และจัดการให้สอดคล้องต่อคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ “โรงไฟฟ้าชีวมวล” กลายเป็นแหล่งพลังงานของคนในชุมชน โดยคนในชุมชน และเพื่อคนในชุมชนสืบต่อไป