สารคดี แม่วงก์ท่วงทำนองแห่งชีวิต

เชิญชมสารคดีได้ที่นี่

 

สารคดีเชิงอนุรักษ์โดย เริงฤทธิ์ คงเมือง เริงชัย คงเมือง และ อรุณ ร้อยศรี
ข้อมูลอีกด้านที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและต้นน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และแมลงนานาชนิด และบางสายพันธุ์ยังเป็นสายพันธุ์ที่พบได้เฉพาะที่แม่วงก์เพียงแห่งเดียวในโลกอีกด้วย

 ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ เขียนถึงผลกระทบต่อสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ – คนอนุรักษ์ “มีชีวิตอีกจำนวนมากซึ่งต้องตื่นตระหนก หวาดกลัวและจะต้องดับสิ้นไป ไม่มีผู้ใดได้ยินเสียงร้องอันน่าเวทนาเหล่านี้หรอก เพราะมันเป็นเสียงของชีวิตที่อยู่ในร่างของ “สัตว์ป่า” เท่านั้น” ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่าอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี

 “ขาลง” ของสัตว์ป่าก็มาถึง

ในห้วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของสัตว์ป่าดูเหมือนว่าชีวิตของช่างภาพสัตว์ป่าก็ “รุ่ง” ไปด้วย นิตยสารเกือบทุกเล่มนำเสนอเรื่องป่าและสัตว์ป่า การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เฟื่องฟู 

เวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยนแปลง วันนี้คนไม่ได้ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมน้อยลง ดูคล้ายกับว่าจะเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนเสียด้วยซ้ำ นิตยสารทุกเล่มยังคงมีบทความหรือมุ่งเน้นในการรักษาสิ่งแวดล้อม สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ฯลฯ คนหาอ่านหรือศึกษาได้จากแหล่งอื่นๆ แต่พื้นที่ของสัตว์ป่าดูจะลดลง และหายไปเลยจากหนังสือบางเล่ม

เราพยายามกู้โลกให้เป็นสีเขียว เรียนรู้ในอันที่จะมี “ชีวิตช้าๆ” คนตื่นตระหนกกับมหาอุทกภัย หวาดกลัวกับหายนะอันเกิดกับน้ำท่วมซึ่งสร้างความเสียหายเหลือคณานับ เราทุ่มเทงบประมาณมหาศาลเพื่อป้องกันหายนะ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้น

“เขื่อน” ดูเหมือนจะเป็นคำตอบหนึ่งในการปกป้องอุทกภัย แต่ผลจากการก่อสร้างเขื่อนไม่ได้มีเพียงปกป้องน้ำท่วมหรือแก้ปัญหาแล้งซ้ำซาก

ในอีกด้านหนึ่ง มีชีวิตอีกจำนวนมากซึ่งต้องตื่นตระหนก หวาดกลัวและจะต้องดับสิ้นไป ไม่มีผู้ใดได้ยินเสียงร้องอันน่าเวทนาเหล่านี้หรอก เพราะมันเป็นเสียงของชีวิตที่อยู่ในร่างของ “สัตว์ป่า” เท่านั้น

“ป่าแม่วงก์ กำลังฟื้นนะครับ สัตว์ป่าเริ่มกลับมาแล้ว” ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย พูด หลังกลับจากเดินป่าแม่วงก์เพื่อให้ “เห็น กับ ตา” หลังจากเป็นอุทยานแห่งชาติมานานกว่า 24 ปี ผืนป่าแม่วงก์ ส่วนหนึ่งของป่าด้านตะวันตก ซึ่งเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่ง หนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่รวมกันถึง 11.7 ล้านไร่ หรือ 18,000 ตารางกิโลเมตร

ป่าแม่วงก์เคยเป็นที่อยู่อาศัยของคนมาก่อน ป่ามีสภาพเป็นไร่และมีชื่อเสียงในการเป็นแหล่งชุกชุมของสัตว์ป่า เป็นที่ซึ่งคนล่าสัตว์มุ่งหน้ามาสัตว์ป่าถูกไล่ล่าจนกระทั่งแทบจะสูญพันธุ์ ช้าง วัวแดง กวาง และเสือโคร่ง ไม่มีหลงเหลือ ป่าอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ต้นไม้เหลือเพียงตอ กระจัดกระจาย 

หลังจากได้รับประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เวลาผ่านไป 24 ปี สถานการณ์เปลี่ยนไป

“ตอนนี้เราได้รูปเสือโคร่งแล้วนะครับ” ดร.อนรรฆ พูดถึงป่าแม่วงก์ งานสำรวจประชากรเสือโคร่งทั้งจากการเดินสำรวจอย่างเป็นระบบและวางกล้องดักถ่ายพบว่า มีเสือโคร่งอาศัยอยู่ที่นี่ เสือส่วนหนึ่งกระจายมาจากป่าห้วยขาแข้ง ป่าแม่วงก์และป่าห้วยขาแข้งมีพื้นที่เชื่อมต่อกัน จึงเป็นเรื่องปกติที่สัตว์ป่าจะเคลื่อนย้ายมา

“ถ้าเราควบคุมการล่าสัตว์ป่าได้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง คาดว่าอีกไม่เกิน 10 ปี ป่าแม่วงก์จะกลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่า “หายาก” หลายชนิด” ดร.อนรรฆให้ความเห็น สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าและกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ร่วมมือในการสำรวจรวมทั้งสนับสนุนการลาดตระเวนอย่างมีระบบในผืนป่าแม่วงก์ เพราะเชื่อว่านี่จะทำให้เหล่าสัตว์ป่ามีแหล่งอาศัยที่ดีขึ้น

“ป่าสักริมห้วยแม่เรวา ที่เมื่อก่อนถูกตัดฟันอย่างหนัก ตอนนี้หลายต้นโตมากๆ บางต้นขึ้นคลุมตอไม้สักเดิม ไม้อื่นๆ ที่รอดจากการถูกตัดมา อย่าง กระบาก เสลา แดง ต้นเต็ง ต้นรัง หลายต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโตเกือบ 1 เมตร นับอายุคงเป็นร้อยๆ ปี” นี่คือสภาพป่า “ล่าสุด” ที่ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าพบ

คนปกป้องดูแลป่าอย่างเอาจริง สภาพป่ากลับมามีสภาพเช่นเดิม สัตว์ป่ามีที่อาศัย แต่ทั้งหมดนี้กำลังจะแปรสภาพไปเป็นเหมือนก่อน 24 ปีที่แล้ว

“เมื่อเขื่อนแม่วงก์สร้างเสร็จ นอกจากป่าที่มีระดับต่ำกว่า 200 เมตรจากระดับน้ำทะเลจะถูกน้ำท่วมหมดแล้ว ป่าที่อยู่ข้างเคียงอ่างเก็บน้ำจะถูกลักลอบตัดฟันและลากลงอ่างเก็บน้ำเพื่อ ซุกซ่อนหรือขนออกอย่างยากที่จะควบคุมเหมือนๆ ที่เกิดขึ้นกับอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งในประเทศ ป่าสักที่กำลังเติบโต ไม้เต็ง รัง กระบากต้นใหญ่ๆ พวกนี้คงไม่เหลือ” ดร.อนรรฆ พูดถึงผลที่จะเกิดขึ้น เมื่อการก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จ

“และผลของมันไม่ได้กระทบเฉพาะป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์นะครับ แต่มันจะกระทบกับอนาคตของผืนป่าต้นน้ำที่ดีที่สุดของประเทศ คือผืนป่าตะวันตก และจะนำไปสู่การทำลายป่าต้นน้ำอย่างขนานใหญ่ ในที่สุดจะส่งผลเสียทางด้านสิ่งแวดล้อมต่อผู้ใช้น้ำ ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำแม่กลอง”

ในฐานะของนักวิชาการผู้เอาจริงกับการใช้ข้อมูลงานวิจัยเพื่อปกป้องป่า ดร.อนรรฆให้ความเห็นอย่างกังวลในสภาพที่จะเกิดขึ้น “เราลงทุนรักษาป่าอนุรักษ์มาเป็นระยะเวลายาวนานมาก ใช้งบประมาณและกำลังคนมากมาย ผมคิดว่าเราไม่ควรอย่างยิ่งที่จะให้เกิดโครงการก่อสร้างหรือโครงการพัฒนา ขนาดใหญ่ที่จะมีผลกระทบกับป่าในยุคสมัยนี้แล้วล่ะครับ” 

หลายเดือนแล้ว ที่เรารู้ว่ามีเสือโคร่งที่กำลังติดตามเดินทางไปอาศัยอยู่ ณ ป่าแม่วงก์ มันเป็นเสือโคร่งตัวเมียอายุ 2 ปีกว่า เพิ่งแยกไปจากแม่และกำลังแสวงหาที่อยู่อันเป็นอาณาเขตของตัวเอง จากข้อมูลนั่นคือที่อาศัยที่ดี มีเหยื่อให้ล่า อนาคตของมันดูสดใส แต่ก็ดูจะเป็นเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ เสือนั้นพวกมันมีกล่องเสียง จึงส่งเสียงร้องหรือคำรามได้กึกก้อง เสียงที่เสือเปล่งออกมา คนมักได้ยินแต่ในท่วงทำนองก้าวร้าว น่าเกรงขาม แท้จริงแล้ว เสียงของพวกมันใช้แทนการสื่อสาร ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะอารมณ์เช่นไร เศร้า เหงา รื่นเริง ทุกข์ระทม หรือมีความรัก จะได้ยินและเข้าใจเสียงเหล่านี้มีหนทางหนึ่งคือ ฟังผ่านหัวใจ

อีกนั่นแหละในห้วงเวลา “ขาลง” ของเสียงของสัตว์ป่าดูเหมือนจะแผ่วเบาลงเรื่อยๆ และจะไม่ได้ยินอีกเลย เมื่อพวกมันทั้งหมด จมอยู่ใต้น้ำ