๕ หน่วยงานจับมือฟื้นฟูบ้านหนองแหนเสนอประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ
สช.นำทีมนักวิชาการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ระดมความเห็นแก้ปัญหาสารตกค้างในแหล่งน้ำของชาวบ้าน ต.หนองแหน จ.ฉะเชิงเทรา ที่ถูกโอบล้อมด้วยโรงงานกำจัดกากของเสียอันตรายบ่อขยะและน้ำเสีย ด้านแพทย์จุฬาฯ แนะเฝ้าระวังโรคร้ายจากสารเคมีอย่างใกล้ชิด เตรียมติดเครื่องบำบัดน้ำ หลังพบสารฟีนอลและโลหะหนักเพียบ เสนอคสช.และครม.ออกมาตรการดูแลเร่งด่วน
วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายนักวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Consortium) จัดสัมมนา “แนวทางและมาตรการบำบัดฟื้นฟู การปนเปื้อนสารพิษ ในพื้นที่ตำบลหนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา” ณ ห้องประชุม ๒๑๐ ตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางสาวสมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สช. กล่าวว่า ชุมชนหนองแหนเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร อาทิ ทำนา สวนยาง ปลูกผัก มะม่วง และมะละกอ ส่งจำหน่ายในกรุงเทพรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่าน เริ่มมามีนายทุนมากว้านซื้อที่ดิน เพื่อตักหน้าดินไปขายเกิดเป็นบ่อลูกรังร้างจำนวนมาก แต่ปัญหาเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีหลัง มีผู้มาซื้อบ่อลูกรังเพื่อนำขยะของเสียจากภาคอุตสาหกรรมมาทิ้ง รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐยังอนุญาตให้ตั้งโรงงานกำจัดขยะและรีไซเคิลของเสียโดยรอบพื้นที่ชุมชนหนองแหน จึงทำให้เกิดปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำชาวบ้านอย่างรุนแรง
โรงงานขยะที่ได้รับอนุญาตเข้ามาตั้งในพื้นที่ แบ่งเป็น ๓. กลุ่ม ได้แก่ ๑.. โรงงานกำจัดกากของเสีย ของบริษัท ฟิวชั่น จำกัด ทำการรีไซเคิลน้ำมัน แต่สถานที่ตั้งอยู่ติดคลองชลประทานและประปาชุมชนที่ชาวบ้านสูบน้ำขึ้นมาใช้อุปโภคบริโภค ๒.. โรงงาน บริษัท เคเอสดี รีไซเคิล จำกัด ทำธุรกิจบำบัดน้ำเสียและกำจัดกากอุตสาหกรรม สถานที่ตั้งติดลำห้วยคลองตาดน้อย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหลเข้าไปยังหมู่บ้านและชุมชน ๓.. บ่อฝังกลบขยะของ บริษัท ศูนย์กำจัดของเสียไทย จำกัด และบ่อฝังกลบขยะของกทม.
โดยรอบชุมชนแห่งนี้ยังมีบ่อลูกรังร้างและบ่อทิ้งกากของเสียขนาด ๑๕ ไร่ในพื้นที่หมู่ ๗ ซึ่งมีการลักลอบนำของเสียภาคอุตสาหกรรมมาทิ้งโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ที่ผ่านมาทางผู้ลักลอบทิ้งจะรับผิดชอบในการบำบัดน้ำเสียให้แล้ว แต่ชาวบ้านยังขาดความมั่นใจในการอุปโภคบริโภค มีการร้องเรียนไปยังสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและมีการประสานงานมายัง สช. เพื่อดำเนินการให้ภาคเอกชนบำบัดฟื้นฟูน้ำปนเปื้อนอย่างถูกต้อง ซึ่งทางสช.ได้จัดทำแผนที่ความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยจากการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ เป็นคู่มือให้แก่ชาวบ้าน รวมถึงร่วมหาวิธีฟื้นฟูแหล่งน้ำให้สามารถนำมาใช้ในวิถีชีวิตได้อย่างปลอดภัย
นางสาวสมพร กล่าวว่า สช. ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตรวจหาสารปนเปื้อนและวางแนวทางในการฟื้นฟูชุมชนหนองแหน โดยผลการวิเคราะห์เบื้องต้นพบสาร “ฟีนอล” ที่มีฤทธิ์ทำลายตับ ไต ระบบสืบพันธุ์ แพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมและคน และยังพบโลหะหนักหลายตัว ทั้งที่เป็นสารก่อมะเร็งและสารอันตรายแต่ไม่จัดอยู่ในจำพวกสารก่อมะเร็ง ได้แก่ แมกนีเซียม ตะกั่ว สารหนู สารประกอบไฮโดรคาร์บอนสายยาว เป็นอันตรายต่อสุขภาพของชาวบ้านอย่างมาก และที่ผ่านมาได้มีการประกาศห้ามใช้น้ำในบางบ่อเพื่อการอุปโภคบริโภคแล้ว ขณะที่ฟาร์มหมูบางแห่งเริ่มพบปัญหาการแท้งลูก จนต้องมีการซื้อน้ำจากภายนอกมาใช้ กลายเป็นต้นทุนและสร้างความเสียหาย จนฟาร์มบางแห่งต้องปิดตัวเองไป และเมื่อมีการตรวจเลือดชาวบ้านก็พบสารฟีนอลจริง ขณะที่นำซากลูกหมูที่ตายไปผ่าพิสูจน์ ก็พบอาการตับเสื่อมสภาพ
“หากมีการประกาศให้ตำบลหนองแหน เป็นเขตควบคุมมลพิษ ก็จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ และสามารถระดมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปร่วมกันฟื้นฟูผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น โดยสช.จะมีการเสนอปัญหานี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ ๑๖ สิงหาคมนี้ เพื่อขออนุมัติแนวทางในการบำบัดสารปนเปื้อนและฟื้นฟูพื้นที่เบื้องต้น ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป”
ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลของสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของชาวบ้าน เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังผลกระทบจากสารพิษตกค้างที่มีผลต่อร่างกาย และติดตามอาการของกลุ่มชาวบ้านที่สัมผัสน้ำเหล่านี้อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องหลายปี เหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นที่เหมืองคลิตี้ และการระเบิดของโกดังสารเคมี ที่ท่าเรือคลองเตย ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือต้องพิจารณาด้วยว่า ชาวบ้านที่เจ็บป่วยจากโรคร้ายที่มากับสารปนเปื้อนดังกล่าว จะได้รับการรักษาอย่างไรและใครเป็นผู้ชดเชยความเสียหาย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกองทุนสิ่งแวดล้อม มีเพียงหลักการที่ระบุให้อุตสาหกรรมที่สร้างความเสียหายหรือก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายชดเชย ดังนั้น ในอนาคตควรมีกฎหมายที่ชัดเจนในการตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อดูแลรักษาชาวบ้านและชุมชน โดยเรียกเก็บจากภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ก่อมลพิษ
ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงมาตรการในการบำบัดและฟื้นฟูการปนเปื้อนสารพิษ ในพื้นที่ตำบลหนองแหนว่า ในการลงพื้นที่สำรวจร่วมกับ สช. และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พบแหล่งน้ำของชาวบ้านในตำบลหนองแหน มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารเคมีอย่างน้อย ๑๔ บ่อ ผลการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นพบสาร “ฟีนอล” ที่มีฤทธิ์ทำลายตับ ไต ระบบสืบพันธุ์ แพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมและคน จึงต้องมีการวางระบบบำบัด เพื่อแก้ปัญหาน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก ซึ่งทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อยู่ระหว่างการคิดค้นเทคโนโลยีติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำให้ชาวบ้าน จะสามารถกรองการปนเปื้อนสารฟีนอลให้หมดไปได้ 100% และสามารถนำมาอุปโภคบริโภคได้อย่างปลอดภัย
เบื้องต้นมีการศึกษาวิธีการที่เหมาะสมและสะดวกสำหรับชาวบ้านในการนำไปใช้จริง ๕ แนวทาง ได้แก่ ๑. บำบัดโดยใช้แสงยูวี ๒. บำบัดโดยการดูดซับสารเคมีออกไป ๓. บำบัดโดยใช้ระบบโอโซน ๔. บำบัดโดยใช้คลอรีน และ ๕. บำบัดโดยใช้ไฟฟ้าเคมี เมื่อทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรคัดเลือกได้แล้ว จะนำมาหารือร่วมกับชาวบ้านเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอีกครั้ง
ปัจจุบัน ค่ามาตรฐานสารฟีนอลในน้ำของแต่ละประเทศกำหนดไว้ต่างกัน โดยสหรัฐ กำหนดความปลอดภัยไว้ไม่เกิน ๒๗ ไมโครกรัมต่อลิตร หรือเทียบเท่า ๒๗ ส่วนในน้ำ ๑ ล้านส่วน แต่ของประเทศไทยอิงกับมาตรฐานโลก ก็คือไม่เกิน ๑ ไมโครกรัมต่อลิตร ขณะที่ผลการตรวจเบื้องต้นจากแหล่งน้ำที่ตำบลหนองแหน พบสารฟีนอลปนเปื้อนสูงสุดถึง ๒๕๐ ไมโครกรัมต่อลิตร