คสช. จัดประชุมทวิภาคีเอชไอเอ-ลดผลกระทบระดับอาเซียน ระดมทุกภาคส่วนสร้างอาเซียนที่ยั่งยืน
คสช. จัดประชุมทวิภาคีเอชไอเอ-ลดผลกระทบระดับอาเซียน
ระดมทุกภาคส่วนสร้างอาเซียนที่ยั่งยืน
วานนี้ (23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558) พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประเทศไทย ให้เกียรติ์เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติระดับอาเซียน เรื่องการประเมินผลกระทบและการบรรเทาผลกระทบภายใต้แนวคิดความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 1 โดยรองนายกรัฐมนตรีย้ำต้องสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสู่สังคมสุขภาวะภูมิภาคอาเซียนที่แบ่งปันเอื้ออาทรควบคู่ไปกับการพัฒนา
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) และ 23หน่วยงาน สนับสนุนงบประมาณและบุคลากร จัดประชุมทวิภาคีวิชาการนานาชาติระดับอาเซียน เรื่อง การประเมินผลกระทบและการบรรเทาผลกระทบภายใต้แนวคิดความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 1 (The 1st ASEAN Conference on “Impact Assessment and Mitigation under the theme of Towards ASEAN Engagement and Sustainable Development”) ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
โดยเป็นการประชุมทวิภาคีระหว่างการประชุมหลักควบคู่ไปกับการประชุมผู้ประสานงาน การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับอาเซียนที่เป็นผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ (The 1st ASEAN Focal Point on HIA (AFPHIA) meeting) โดยจะได้ผลลัพธ์คือแผนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้าน HIA ของอาเซียน แผนการสร้างศักยภาพสำหรับชุมชนในอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่เป็นการขับเคลื่อนตามแนวคิด Health in All Policies และนำเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุขกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งที่ 11 ต่อไป
โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมเช่น ผู้ว่าราชาการจังหวัดพิษณุโลก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดพิษณุโลก ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน ผู้แทนจากคณะสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประเทศไทย ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) องค์การกรีนพีชระหว่างประเทศ ผู้แทนชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าและโรงปูนประเทศพม่า คณะครู นักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณ ประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งนักวิชาการและนักวิชาชีพด้านการประเมินผลกระทบในกลุ่มประเทศอาเซียน เข้ารวมกว่า 600 คน
พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภายหลังจากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 หรือ 2015 เครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจะถูกประยุกต์ใช้กับยุทธศาสตร์การพัฒนาทุกนโยบายใส่ใจสุขภาวะ และถึงแม้ว่าอาเซียนจะมีการสนับสนุนการค้าการลงทุนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ควรพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสังคมและสุขภาพควบคู่ไปด้วย และผลลัพธ์ของการประชุมในครั้งนี้แผนปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาศักยภาพบุคคลากรด้านเอชไอเอของผู้ประสานงานเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับอาเซียน ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมอาวุโสด้านการสาธารณสุขระดับอาเซียนครั้งที่ 11 ซึ่งจะจัดขึ้นในปีหน้าที่ประเทศบรูไนต่อไป
“การประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่เหมาะสม ที่ได้มีการพูดคุยหารือร่วมกันในเรื่องการประเมินผลกระทบในภูมิภาคอาเซียน ที่เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในพัฒนาที่รวดเร็วมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งในโลก ซึ่งจากการพัฒนาดังกล่าวทำให้เกิดประโยชน์ในจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเกิดผลกระทบด้านลบโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสุขภาพของประชาชนและสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย จึงควรมีเครื่องมือหรือวิธีการในการลดผลกระทบตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงกิจกรรมเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดกับภูมิภาคของเรา”
ด้าน นายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และ ประธานการจัดประชุมฯ กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติจากที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุขอาเซียน (SOMHD) ครั้งที่ 9 เมื่อปี 2557 ที่จังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการเพื่อสร้างเสริมศักยภาพเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับอาเซียน และที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุขกลุ่มประเทศอาเซียน (SOMHD) ครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 – 16 กันยายน พ.ศ. 2558 ที่มีประเทศเวียตนามมีมติเห็นชอบการที่ประเทศไทยโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จัดประชุมครั้งนี้
โดยการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการประเมินผลกระทบ เนื่องจากเรื่องของ “สุขภาพ” เกี่ยวข้องกับทุกนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาการประเมินผลกระทบ มักเกิดข้อขัดแย้งเรื่องรับการรับรู้และการมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายผู้ลงทุน ผู้สนับสนุนนโยบาย และชุมชน ดังนั้น ภาควิชาการจึงเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่จะช่วยสื่อประสานข้อมูลข่าวสารให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ และความขัดแย้งในสังคม และก่อให้เกิดความร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการจัดทำระบบประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่จะเป็นรากฐานของการดูแลสุขภาวะของสังคม
นอกจากนี้ยังกล่าวว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนส่วนใหญ่จะรู้จักและเข้าใจการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในฐานะเป็นองค์ประกอบของการทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และในปี 2540 ธนาคารโลก หรือ World Bank ได้นำเครื่องมือการประเมินผลกระทบมาเป็นเกณฑ์การพิจารณาเงินกู้เพื่อการลงทุน ทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีหลายหน่วยงานจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่มีความครอบคลุมมากขึ้น เช่น บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) จัดทำหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและปัจจัยกำหนดสุขภาพร่วม รวมถึงส่งเสริมให้ภาคชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการประเมินผลกระทบด้วย
ศ.ดร.สุจิน จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมวิชาการซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนงานวิชาการเรื่องการประเมินผลกระทบทั้งภายในประเทศและข้ามพรมแดน นอกจากนี้จังหวัดพิษณุโลกตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย และมีแยกอินโดจีนเป็นเส้นทางสำคัญทางการค้าของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งสร้างโอกาสทางการค้าของประเทศไทยและในทางกลับกันอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบจากการพัฒนานี้ได้ด้วย ดังนั้นเครื่องมือการประเมินผลกระทบจึงควรทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบให้กับภูมิภาคของเรา นอกจากนี้การประชุมนี้ยังจัดขึ้นภายใต้แนวคิดการประชุมเชิงอนุรักษ์หรือ Eco Conference เพื่อลดการใช้กระดาษ โฟม ถุงพลาสติก โดยจัดเตรียมกระติกน้ำและจุดกรอกน้ำ ใช้ Thumb drive บรรจุเอกสารประกอบการประชุม เป็นต้น