ส่งเด็กเมืองไปอยู่ป่า ค้นคุณค่าคนปกาเกอะญอ
ส่งเด็กเมืองไปอยู่ป่า ค้นคุณค่าคนปกาเกอะญอ
ภาพโดยโรงเรียนรุ่งอรุณ
การศึกษาในปัจจุบันมีทางเลือกให้ผู้เรียนเข้าถึงองค์ความรู้มากมายหลายวิธี ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่ห้าของมนุษย์ไปแล้วนั้น ความรู้มหาศาลอาจจะอยู่ในรูปแบบข้อความ ภาพ และ เสียง ที่ถูกจัดเก็บในรูปแบบไฟล์บนระบบอินเตอร์เน็ต แต่สิ่งที่ขาดหายไปในยุคสมัยที่ความรู้แทบจะกลายเป็นของสำเร็จรูปก็คือ “ความลึกซึ้ง” และ “ประสบการณ์” ที่ผู้เรียนพึงได้รับจากการศึกษาในสถานที่จริง
โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกจึงได้เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับชั้น ม.4 ได้ทำการศึกษาวิถีชีวิตจริงของผู้คนโดยการพานักเรียนไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวปกาเกอะญอที่หมู่บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในวิชาบูรณาการสังคม ภาษาไทย และ เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) โดย ครุปุ๊ เปรมปรีติ หาญทนงค์ ครูผู้ดูแลโครงการนี้กล่าวถึงที่มาและกระบวนการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณว่า “การเรียนในวิชาบูรณาการสังคม ภาษาไทย และ เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) เป็นการเรียนในรูปแบบโครงงาน โดยเราจะให้นักเรียนตั้งหัวข้อโครงงานว่าเขาอยากจะศึกษาอะไร และเป็นการเรียนในแบบ Area Base นักเรียนจะได้ลงพื้นที่จริง เพื่อดูว่าในพื้นที่มีประเด็นอะไรที่น่าจะนำมาเป็นหัวข้อโครงงาน เราเลือกบ้านสบลานเพราะที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้ของโรงเรียนอยู่แล้ว โดยเราให้นักเรียนไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านที่เป็นชาวปกาเกอะญอ หลังละ 2-3 คน เป็นเวลา 5 วัน 4 คืน ในครั้งแรกให้นักเรียนได้ทำความรู้จักกับชาวบ้านในเบื้องต้นก่อน ไปใช้ชีวิตร่วมกับเขา ไปอยู่กับเด็กๆ ในหมู่บ้าน เพื่อรวบรวมข้อมูลว่าในหมู่บ้านมีอะไรบ้าง ข้อมูลอะไรที่ยังขาดไป ก่อนจะกลับไปเก็บข้อมูลอีกครั้งในรูปแบบการสัมภาษณ์”
การส่งเด็กเมืองไปอยู่ป่า ทำให้พวกเขาได้เปิดโลกทัศน์ ได้มองเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีของคนที่ยังอยู่กับป่าได้อย่างกลมกลืน ซึ่งสิ่งที่เด็กๆ ได้ค้นพบ แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอในการอยู่กับป่าในฐานะผู้พึ่งพิง และ ผู้ดูแลรักษา ท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่กำลังแทรกซึมเข้ามาในชุมชน
“สิ่งที่เด็กๆ ได้ค้นพบจากการลงไปอยู่ในพื้นที่บ้านสบลานก็คือ วัฒนธรรม และ ภูมิปัญญาที่ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทุกอย่างจากทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งพวกเขาสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงินเลย ทุกเรื่องในชีวิตของชาวปกาเกอะญอ ล้วนสอดคล้องกับธรรมชาติ มีรักษา บริหารและฟื้นฟูธรรมชาติ เช่น การทำไร่หมุนเวียน ใช้นิทานหรือ “บทธา” เพื่อถ่ายทอดการฟื้นฟูธรรมทรัพยากร แต่การพัฒนาและความเจริญสมัยใหม่ที่เริ่มเข้ามาสู่ชุมชน เช่น ไฟฟ้า หรือ การที่คนรุ่นใหม่ในชุมชนเริ่มออกไปเรียนหรือทำงานนอกหมู่บ้าน อาจจะทำให้คุณค่าและองค์ความรู้ของชาวปกาเกอะญอหายไปได้ หรือแย่ไปกว่านั้น หากชาวบ้านสบลานไม่อยู่กับป่า ตัวป่าเองก็อาจจะอยู่ไม่ได้เช่นกัน ‘โจ๊ะมาโลลือหล่า’ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้านที่สอนวิชาสามัญควบคู่ไปกับการสืบสานองค์ความรู้เดิมจึงเป็นอีกหนทางหนึ่งในการสืบสานวิถีชีวิตเดิมของชาวบ้านโดยผสานกับความรู้ใหม่ที่จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้”
จากการรวบรวมข้อมูลภาคสนามและนำมาวิเคราะห์เพื่อหาประเด็น คณะนักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนรุ่งอรุณที่ได้ลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอบ้านสบลานจึงจัดทำโครงงานการศึกษาภูมิปัญญาบนฐานการพึ่งพิงทรัพยากรป่าและน้ำของชุมชนปกาเกอะญอ กรณีศึกษา บ้านสบลาน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผลผลิตออกมาเป็นรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน เพื่อนำไปใช้เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการผลักดันให้มีการประกาศให้พื้นที่บ้านสบลานเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ เพื่อให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าในตนเอง อีกทั้งการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษดังกล่าวยังส่งผลต่อการคงอยู่ของชุมชน ด้วยการคุ้มครองพื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ
จากผลการศึกษาพบว่าชุมชนเเห่งนี้มีความเป็นมานานกว่า 150 ปี สืบความกลับไปได้ว่า พ่ออุ้ยนะนู ภรรยา เเละลูกทั้ง 5 คน อพยพจากบ้านห้วยหยวก อำเภอเเม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มาตั้งถิ่งฐานบริเวณที่เป็นบ้านสบลานในปัจจุบัน เป็นการอพยพเพื่อหาที่ทำกินใหม่ และ “ชุมชนแห่งนี้รักป่า” เพราะป่าทำให้พวกเขา “อยู่ดีมีสุข” สะท้อนได้จากพวกเขาหาอยู่หากินหายาสมุนไพรได้จากป่า มีข้อห้ามและข้อให้ในการใช้น้ำเพื่อที่จะได้ใช้ได้ทั่วถึงกัน มีประเพณีตามฤดูกาล มีบ้านจากวัสดุธรรมชาติมีเสื้อผ้าจากป่า แม่สอนลูกสาวทอผ้า กิจกรรมนี้ช่วยสานสัมพันธ์แม่ลูกไว้ ตัวอย่างเหล่านี้นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของกลุ่มชน
“ชาวบ้านอยากได้รายงานฯ ที่นักเรียนทำมาก เพราะก่อนหน้านี้เขาต้องการคนที่จะมารวบรวมข้อมูลและทำสื่อที่จะใช้ประกอบในการผลักดันให้มีการประกาศให้พื้นที่บ้านสบลานเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ อุปสรรคหนึ่งของชาวบ้านก็คือความสามารถในการใช้ภาษาไทยที่ยังค่อนข้างอ่อน และการทำสื่อเพื่อเผยแพร่ข้อมูล ตรงนี้ก็ได้นักเรียนของเราไปช่วยทำ”
ประโยชน์ของรายงานฉบับนี้ก็คือ ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าคนภายนอกพื้นที่อย่างพวกเรายังเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตของเขาและต้องการที่จะช่วยรักษามันไว้ สองคือ เป็นสิ่งที่รวบรวมองค์ความรู้ของชาวปกาเกอะญอเพื่อการศึกษาค้นคว้าต่อไปในอนาคต และ สาม สื่อที่ทำออกมาเป็นฝีมือของเยาวชนอย่างแท้จริง เด็กๆ ตั้งใจทำกันมากเพราะอยากให้ทันการนำเสนอในการประชุม HIA ระดับนานาชาติที่ จ.พิษณุโลก แต่ก็เกิดอุปสรรคทางเทคนิคซะก่อน แต่เด็กๆ ก็ฮึดสู้ ตั้งใจจะทำให้ได้จนเรียกว่าไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันเลยทีเดียว เพราะพวกเขารู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาทำจะเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น”