คสช. หนุนจัดประชุมทวิภาคีเอชไอเอภูมิภาคอาเซียน
คสช. หนุนจัดประชุมทวิภาคีเอชไอเอภูมิภาคอาเซียน
จากมติที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุขกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 9 ณ จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2557 มอบหมายให้ประเทศไทยในฐานะผู้นำเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จัดประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับอาเซียน และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนากำลังคนเรื่องเอชไอเอของผู้ประสานงานเอชไอเอในภูมิภาคอาเซียนนั้น
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรและภาคีเครือข่ายนานาชาติ จัดประชุมวิชาการระดับอาเซียนเรื่อง The 1st ASEAN Conference on “Impact Assessment and Mitigation under the theme of Towards ASEAN Engagement and Sustainable Development” โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ประเทศไทย
โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดทำแผนพัฒนากำลังคนด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือเอชไอเอในระดับภูมิภาคอาเซียน สำหรับผู้ประสานงานเอชไอเอระดับอาเซียนที่เป็นผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงสิ่งแวดล้อมจากทั้ง ๑๐ ประเทศในชาติสมาชิกอาเซียน หรือ ASEAN Focal Point on HIA : AFPHIA หลักสูตรการเรียนการสอนของคณะสาธารณสุขกลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยกระดับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการประเมินผลกระทบ ประสบการณ์จากนานชาติ รวมถึงสร้างเครือข่ายทางวิชาการต่อไป
ต่อมา คสช. ได้มีคำสั่ง เลขที่ 4/2015 ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2558 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการประชุมฯ หรือ The Establishment of the International Steering Board for The 1st ASEAN Conference on Impact Assessment and Mitigation: Towards ASEAN Engagement and Sustainable Development เพื่อกำกับทิศทาง และให้ข้อเสนอแนะต่อการประชุม โดยมี นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ประเทศไทยเป็นประธาน และ นพ.วิพุธ พูลเจริญ ในฐานะประธานจัดการประชุมฯ ได้แต่งตั้งอนุกรรมการอีก 3 ชุด เพื่อเป็นกลไกการทำงาน ได้แก่ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการประชุมฯ หรือ Organizing Committee โดยมี นพ.วิพุธ พูลเจริญ เป็นประธาน คณะอนุวิชาการการประชุมฯ หรือ Scientific Committee โดยมี นพ. พรชัย สิทธิศรัณย์กุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการอำนวยการประชุมฯ หรือ Local Committee ที่มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธาน และจะมีการจัดประชุมคณะกรรมการจัดการประชุมฯ ครั้งที่ 1 ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2558 ต่อไป