“ก-ข-ค” หัวใจที่ทำให้ CHIA เสริมสิทธิ์ชุมชน

 “ก-ข-ค” หัวใจที่ทำให้ CHIA เสริมสิทธิ์ชุมชน

          งานประชุมวิชชาการ ” ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส 9 ปี สช.” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2558 ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี มีวงเสวนาเรื่อง “CHIA เครื่องมือเสริมสิทธิชุมชน” ซึ่งมีผู้สนใจร่วมฟังเสวนาจนเต็มลานกิจกรรม โดยงานนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ และ รศ.ดร. วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การสนับสนุนกระบวนการ CHIA หรือ Community Health Impact Assessment หรือการประเมินผลกระทบด้บสุขภาพโดยชุมชนในหลายพื้นที่

         ดร.สมนึก จงมีวศิน กล่าวว่า การขยายโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจศึกษารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างจริงจังแล้วก็พบว่ารายงาน EIA นำเสนอข้อมูลให้เห็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะยังขาดข้อมูลของชุมชนในมิติทางด้านสุขภาพ สังคม และจิตวิญญาณ จึงสนใจการจัดกระบวนกากับชุมชน (CHIA) โดยที่ผ่านมาได้เข้าไปหนุนเสริมชาวบ้านในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการ CHIA กรณีการขยายท่าเรือแหลมฉบังและการจัดการขยะตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
         รศ.ดร วิสาข์ เล่าว่า รู้จักเครื่องมือ CHIA จากการเข้ามาศึกษาสารพิษในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ และกลับพบว่าพื้นที่เหล่านี้มีศักยภาพเป็นแหล่งเพาะปลูก พืชผลไม้ สมุนไพร จึงเข้ามาช่วยเสริมหนุนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน อย่างไรก็ตามการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชนต่างพบอุปสรรคที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ การทำงานร่วมกับชุมชนอย่างมีหลักการจะช่วยให้หาทางออกไปได้ โดย รศ.ดร.วิสาข์ ใช้หลักการให้ชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก หรือที่เรียกว่า Community Driven คือให้ชุมชนเป็นผู้ออกแบบกระบวนการด้วยตนเอง เพื่อให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาด้วยตนเองได้มากที่สุด
          ด้านอาจารย์สมนึก กล่าวว่าเมื่อจัดกระบวนการ CHIA ในพื้นที่และพบเจออุปสรรคจะประยุกต์ใช้ ‘หลักการ 4 รู้’ ช่วยให้เห็นทางออกเสมอ ลำดับแรกคือ 1.รู้คุณค่าอัตลักษณ์ชุมชน 2.รู้คุณค่าฐานทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมในท้องถิ่นตนเอง 3.รู้ว่าโครงการพัฒนาที่เข้ามามีผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร และรู้สุดท้ายคือ รู้ทั้งข้อดีและข้อเสียของการเกิดโครงการเพื่อสามารถปกป้องศักยภาพชุมชนและกำหนดอนาคตแนวทางการพัฒนาได้
นอกจากนักวิชาการทั้งสามท่านแล้ว คุณวิจิตรา ชูสกุล จากเครือข่ายโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้รับรางวัล สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2557 เล่าถึงการจัดกระบวนการ CHIA กรณีโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางนโยบายว่า
            “ความสำเร็จของ การทำ CHIA โรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดสุรินทร์ เกิดจากความร่วมมือของชุมชน ผู้ประกอบการ และขยายความร่วมมือไปสู่หน่วยงานรัฐทุกระดับ จนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ความรุนแรงของปัญหา และร่วมกันผลักดันให้เกิดข้อตกลงร่วมกัน การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชนให้บรรลุผลสำเร็จ นอกจากชุมชนจะทำงานหนักต่อเนื่องแล้ว การขยายความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการผลักดันเชิงนโยบาย”

CHIA เสริมสร้างชุมชนอย่างไร
          ก่อนการเสวนาจะเข้าสู่ช่วงตอบคำถามจากผู้ร่วมฟัง นักวิชาการแต่ละท่านได้สะท้อนมุมมองถึงการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน โดย รศ.ดร วิสาข์ ให้ความเห็นว่า “CHIA คือการจัดกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องที่ชุมชนอยากรู้ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ ศักยภาพพื้นที่ด้านการท่องเที่ยว ไปจนถึงเรื่อง มิติทางด้านสังคม และจิตวิญาณ”
           อาจารย์สมนึก ให้มุมมองว่า “CHIA ทำให้ชุมชนมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตัวเอง ด้วยข้อมูลที่ค้นคว้าและติดตามเพื่อนำมาปกป้องศักยภาพที่มีอยู่เดิมของชุมชนและนี่คือสิทธิการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง”
ดร.สัญชัย กล่าวจากประสบการณ์ว่า “ กระบวนการ CHIA ที่จะเสริมสร้างสิทธิชุมชนได้ ต้องประกอบด้วยหลักการ 3 ข้อ เรียกสั้นๆ ว่าหลักการ ‘ก ข ค’ ‘ก’ คือ กลไกการมีส่วนร่วม ‘ข’ คือ ข้อมูลข่าวสารที่มีพลัง ‘ค’ คือความรู้จากตัวบุคคลขยายไปสู่เครือข่าย จึงจะช่วยให้การขับเคลื่อน CHIA ได้อย่างมีพลัง ”
            ในช่วงสุดท้าย ท้ายสุด มีคำถามมากมายจากผู้ฟังเสวนาไม่ว่าจะเป็น
“การจัดทำข้อมูล CHIA จะช่วยคัดค้านการออกกฎหมายที่ไม่ชอบได้หรือไม่” จากชาวบ้าน จังหวัดหนองบัวลำภู
“กระบวนการ CHIA ทำข้อมูลเพื่อผลักดันนโยบายการอนุรักษ์ชนเผ่า ชาติพันธ์พื้นเมืองได้หรือไม่ ” จากเครือข่ายคนเผ่าพื้นเมือง
“ทำอย่างไรกระบวน CHIA ในพื้นที่จึงจะมีความต่อเนื่องจนสามารถขับเคลื่อนทางนโยบายได้” โดยชาวบ้านจากพื้นที่เหมืองทองคำ จังหวัดเลย
“จะมีการสำรวจขุดเจาะน้ำมันที่จังหวัดบุรีรัมย์ เกรงว่าจะกระทบกับการปลูกยางพารา จึงอยากทำ CHIA ก่อนที่โครงการจะเข้ามาดำเนินการจะได้หรือไม่” โดยชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์

             คำตอบของแต่ละคำถามมีรายละเอียดแตกต่างกันแต่มีสาระใจความสำคัญอยู่ที่ว่า
            การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (CHIA) เป็นกระบวนการที่สร้างให้เกิดขึ้นได้ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาใดๆก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน นอกจากนี้ CHIA ยังสามารถนำไปใช้พัฒนาข้อมูลชุมชนได้ทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าทาง ด้านสุขภาพ สังคม จิตวิญญาณ รวมถึงการออกกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ชุมชนกำลังนำ CHIA เข้าไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดกระบวนการที่มีส่วนร่วมต่อไป