สช.-มน. จัดประชุมคณะกรรมการจัดประชุมเอชไอเออาเซียน เตรียมความพร้อมก่อนจัดงานจริงปลายปีนี้
สช.-มน. จัดประชุมคณะกรรมการจัดประชุมเอชไอเออาเซียน
เตรียมความพร้อมก่อนจัดงานจริงปลายปีนี้
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการประชุมคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติระดับอาเซียน เรื่อง การประเมินผลกระทบและการบรรเทาผลกระทบภายใต้แนวคิดความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 1 (The 1st ASEAN Conference on “Impact Assessment and Mitigation under the theme of Towards ASEAN Engagement and Sustainable Development”) ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยเป็นประธาน โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกเพื่อเตรียมความพร้อมและกำกับทิศทางการประชุม
โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสุขภาพแหงชาติ (คสช.) ที่มีรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ วิชาการ และประชาสังคมทั้งสิ้น 17 หน่วยงาน เช่น สำนักงานเลขาธิการอาเซียน องค์การอนามัยโลก คณะกรรมการลุ่มน้ำโขง เครือข่ายคณบดีคณะสาธารณสุขลุ่มน้ำโขง บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ประเทศไทย กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย) สภาการพยาบาลประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย กระทรวงพลังงาน ประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประเทศไทย
นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติระดับอาเซียนฯ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เกิดจากการที่ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการสาธารณสุขระดับอาเซียน (SOMHD) ครั้งที่ 9 ณ จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย มอบหมายให้ประเทศไทยพัฒนาศักยภาพองค์ความรู้เรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับอาเซียนสำหรับผู้ที่จะต้องนำไปปฏิบัติใช้และภาคส่วนวิชาการ นอกจากนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการของผู้ประสานงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับอาเซียนมาแล้ว 2 ครั้ง จนเกิดเป็นแผนปฏิบัติการของแต่ละประเทศโดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเรื่องการพัฒนาศักยภาพ
นพ.วิพุธ พูลเจริญ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมทวิภาคีระหว่างการประชุมหลักกับการประชุมผู้ประสานงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ครั้งที่ 1 ( AFPHIA : ASEAN Focal Point on Health Impact Assessment) มีเป้าหมายเพื่อจัดทำแผนพัฒนากำลังคนด้านการประเมินผลกระทดบ้านสุขภาพของอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีวาระการประชุมสำคัญที่เปิดให้ทั้งภาครัฐ เอกชน กลุ่มเงินลงทุน ชุมชน และวิชาการ ได้สะท้อนความต้องการกำลังคนด้านการประเมินผลกระทบในมุมมองของตนเอง เพื่อนำความต้องการเหล่านี้มาจัดทำหลักสูตรการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบทุกโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วน
ด้าน น.ส.โดโรล่า ที บาบาราน ผู้อำนวยการสาขาความร่วมมือด้านสังคมวัฒนธรรม สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า เรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในระดับอาเซียนบรรจุเป็นประเด็นด้านสุขภาพ ลำดับที่ 11 เรื่อง Environmental health and HIA ของ Cluster 2 เรื่อง Responding to all hazards and emerging threats โดยมียุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคคือแผนพัฒนาศักยภาพเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จึงควรดำเนินการประชุมให้สอดคล้องและเกิดผลลัพธ์ที่บรรลุยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้ นอกจากนี้นับได้ว่าการประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้เป็นก้าวแรกของการทำงานเรื่อง HIA ที่สำคัญและขอให้มีการวางแผนการทำงานที่ต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องนี้ให้แข็งแรงและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอาเซียน
น.ส.จริยา เสนพงษ์ ผู้แทนจากกรีนพีชเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย กล่าวว่า ควรมีการทำการสื่อสารในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ประชาชน หรือชุมชนในภูมิภาคอาเซียนได้เข้าใจและรับทราบถึงความสำคัญของการประชุมวิชาการเรื่องการประเมินผลกระทบในครั้งนี้ และในการประชุมควรมีการสื่อสารหรือการย่อยเนื้อหาที่เอื้อให้ชุมชนเข้าใจได้โดยง่าย เนื่องจากกลุ่มชุมชนเหล่านี้เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการการประเมินผลกระทบที่สำคัญ และเราจำเป็นต้องใช้พลังของภาคประชาชนในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายไปพร้อมกัน