ปฏิบัติการเอชไอเอชุมชนในประเทศไทย : การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน เพื่อกำหนดอนาคตของชุมชนอย่างแท้จริง

 เอชไอเอชุมชน (Community Health Impact Assessment : CHIA) คือ การกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมตัดสินใจนโยบาย โครงการ และกิจกรรมการวางแผนพัฒนาด้านต่างๆ ที่จะเป็นผลดีต่อสุขภาวะของชุมชนอันนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมทางด้านสุขภาพ

เป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาชุมชนสุขภาวะ ที่แต่ละชุมชนสามารถพัฒนาขึ้นมาได้เอง มีความแตกต่างกันตามบริบทของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น สามารถใช้ประเมินผลกระทบได้ทั้งในระดับโครงการแผนงาน และนโยบายสาธารณะ เป็นกระบวนการที่สนับสนุนให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพได้อย่างสอดคล้องกับทิศทางหรืออุดมการณ์ของชุมชนอย่างแท้จริง

ให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างเครื่องมือของชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการกำหนดนิยาม“สุขภาพของชุมชน” 
กำหนดภาพวิสัยทัศน์ชุมชนสุขภาวะ ค้นหาปัจจัยกำหนดสุขภาพในทุกมิติโดยเฉพาะปัจจัยทางด้านสังคม พร้อมทั้งมีการสร้างเครื่องมือที่ชุมชนสามารถใช้ได้โดยง่าย สำหรับใช้ในการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน

ปัจจุบันมีชุมชนในหลายพื้นที่ได้เริ่มเรียนรู้และทำเอชไอเอชุมชนแล้ว ในขณะที่อีกหลายพื้นที่ได้เริ่มตระหนักถึง
ประโยชน์ของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพโดยตนเองมากขึ้นทุกขณะ อาจกล่าวได้ว่า ณ วันนี้เอชไอเอเดินออกจากมือ
ผู้เชี่ยวชาญแล้ว และเริ่มกลายเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง แต่ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้เอชไอเอชุมชนได้ก้าวข้ามการใช้เพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ว่าจะเอาหรือไม่เอาโครงการ หากแต่จะทำอย่างไรให้เอชไอเอชุมชนได้ถูกนำไปใช้เพื่อการกำหนดอนาคตของชุมชนได้อย่างแท้จริง บนพื้นฐานของความสอดคล้องและเหมาะสม กับ นิเวศน์วัฒนธรรมชุมชน 

เอชไอเอชุมชน เป็นของชุมชน ทำโดยชุมชน เพื่อกำหนดอนาคตชุมชน

พื้นที่ปฏิบัติการเอชไอเอชุมชนประเทศไทยเอชไอเอชุมชนเริ่มนำร่องปฏิบัติการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551โดยในขณะนั้นชุมชนที่ใช้เครื่องมือนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการนโยบายแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ Southern Seaboard จวบจนปัจจุบันมีการนำเอชไอเอชุมชนนี้ไปใช้ในหลายสาขานโยบาย ได้แก่ นโยบายเหมืองแร่ นโยบายพลังงาน (ชีวมวล-ถ่านหิน) นโยบายแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือ southern seaboard และนโยบายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

 

+ บางส่วนพื้นที่ของเอชไอเอชุมชน +

“คนกับเหมือง : อนาคตเมืองเลย”
กรณีการทำเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง เหมืองแร่เหล็กที่บ้านอุมุง อ.เชียงคาน
และการขอสัมปทานทำเหมืองแร่ทองแดง ที่ ต.นาดินดำ จ.เลย

 

“อาหาร-ถ่านหิน : จุดตัดการพัฒนาบนพื้นที่เกษตรกรรมพนมสารคาม-สนามชัยเขต”
กรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 MW ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา  

ก่อนแผ่นดิน “กลาย” เป็นอื่น เจตนารมณ์ปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารของคน “อ่าวทองคำ”
กรณีการสร้างท่าเรือน้ำลึกและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ อ.สิชล – ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช