เกร็ดญี่ปุ่น (3-4) โดย อำพล จินดาวัฒนะ บันทึกการเดินทางระหว่างประชุม “Empowering Communities and Building Social Consensus : International Seminar on HIA”
เกร็ดญี่ปุ่น
โดย อำพล จินดาวัฒนะ
ตอน ๓ สุภาพ นอบน้อม ใฝ่บริการ ให้เกียรติและตรงต่อเวลา
คนญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ เป็นคนน่ารัก สุภาพ ให้เกียรติคนอื่น ตามร้านค้าหรือที่บริการต่างๆทั้งของรัฐและเอกชน คนญี่ปุ่นดูกระปรี้กระเปร่า และกระตือรือร้นในการให้บริการตลอดเวลา ผมไปสำรองที่นั่งรถไฟที่หน่วยบริการเอกชนที่สถานีรถไฟ เจ้าหน้าที่กระตือรือร้นให้บริการดีมาก ให้บริการเสร็จก็โค้งคำนับให้เกียรติลูกค้าอย่างเป็นธรรมชาติ
ไม่เหมือนการยกมือไหว้แบบกลไกของพนักงานบริการสายการบินบางประเทศ555…
พนักงานรถไฟ เมื่อเดินเข้ามาในโบกี้โดยสาร สิ่งแรกที่ทำคือการโค้งคำนับผู้โดยสาร และเมื่อจะก้าวพ้นออกไป ก็หันกลับมาโค้งคำนับอีกครั้งหนึ่ง
พนักงานตามร้านอาหาร จะส่งเสียงเชื้อเชิญลูกค้าเข้าร้าน เมื่อเข้าร้านแล้วก็จะดูแลเป็นอย่างดี เมื่อลูกค้าออกจากร้านก็คำนับและกล่าวขอบคุณ ดูเป็นธรรมชาติ
ถามข้อมูลอะไรกับคนญี่ปุ่น ไม่ว่าที่ไหน แทบไม่มีที่จะได้รับการปฏิเสธ ขนาดบางครั้งสื่อภาษากันไม่ค่อยรู้เรื่อง เขาก็ยังพยายามจะให้ข้อมูล ไม่รู้สึกรำคาญหรือดูถูกคนอื่น
การประชุมที่ผมเข้าร่วม มีเจ้าหน้าที่ช่วยจัดการ๒-๓คน เมื่องานเสร็จ ตอนกลางคืน มีงานเลี้ยงให้แก่วิทยากรและผู้เข้าร่วมจากประเทศไทย สิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ ศาสตราจารย์เจ้าของงานจะกล่าวแนะนำให้ทุกคนรู้จักว่า ใครคือเจ้าหน้าที่ช่วยทำงานอยู่เบื้องหลังบ้าง และในงานเลี้ยงคืนที่ ๒ก็เปิดโอกาสให้ทุกคนได้กล่าวแสดงความรู้สึกคนละเล็กคนละน้อยรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่ช่วยงานทุกคนก็ได้มีโอกาสพูดด้วย
เป็นการให้เกียรติแก่ทุกคนอย่างเสมอกัน ช่องว่างระหว่างวัย ระหว่างตำแหน่งและระหว่างบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนค่อนข้างแคบ
วันที่ผมเดินทางเสร็จประชุม ต้องเดินทางต่อเพื่อไปทัศนศึกษาออกเดินทางจากที่พักตั้งแต่เช้าตรู่ Pr. Miyakitaเจ้าของงาน ตื่นแต่เช้ามาดักรอส่งผมขึ้นรถไปสถานีรถไฟ
Pr. Miyakitaตื่นมาส่งแต่เช้าตรู่
เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานช่วยขับรถไปส่งที่สถานีรถไฟ ดูแลช่วยเหลือผมและภรรยาเป็นอย่างดี ยืนโค้งคำนับและโบกมือส่งเราจนลับตา (ให้แน่ใจว่าไปจริงๆ)
สองเจ้าหน้าที่ประสานงานไปส่งเราที่สถานีรถไฟ
เวลาไปเที่ยวในชนบทผู้คนก็สุภาพ ทักทายให้เกียรติ แม้ในเมืองใหญ่จะต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างไปมากกว่า แต่โดยรวมก็ยังปรากฏลักษณะเด่นเหล่านี้ให้เห็นตลอด ไปญี่ปุ่น จึงเต็มไปด้วยความรู้สึกอบอุ่น สบายๆ
ตอนอาหารค่ำ ถือโอกาสนวดไทยสาธิตให้โปรเฟสเซอร์ซะหน่อย
คนไทยผิดเวลากันจนเป็นปกติถ้าตรงเวลา อาจกลายเป็นผิดปกติไป
มีเรื่องเล่าว่า มีการประชุมครั้งหนึ่ง มีผู้ชายคนหนึ่งเข้าประชุมสาย เขาบอกกับประธานที่ประชุมว่า
“ขอโทษครับที่มาสาย เพราะรถติด”
ซึ่งเป็นคำแก้ตัวแบบท่าไม้ตายสำหรับคนที่อยู่ในกรุงเทพ
บังเอิญว่าการประชุมคราวนั้น จัดที่ต่างจังหวัด และที่สำคัญคือ เขาจัดให้ทุกคนพักที่โรงแรมเดียวกันกับสถานที่ใช้ประชุม ไม่ต้องเดินทางมาจากไหน
แล้วรถมันจะติดได้อย่างไร?555
………………………………………………………………..
ตอนที่ ๔ อาหารญี่ปุ่นกับคนญี่ปุ่นที่อายุยืนที่สุดในโลก
พฤติกรรมเหล่านี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่เสริมทำให้คนญี่ปุ่นอายุยืนที่สุดในโลก
ผมไปพักโรงเตี๊ยมคล้ายๆhome stayที่เรียกว่า “gassho-zukuri farmhouse” ในหมู่บ้านชนบทชื่อ Shirakawa-go ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นชุมชนท้องถิ่นมรดกโลก พักอาศัยแบบชาวชนบทญี่ปุ่น เขาเลี้ยงอาหารเย็น ๑ มื้อ และอาหารเช้า๑มื้อ เป็นอาหารพื้นบ้านมีผักหลายชนิด มีซุปญี่ปุ่น มีปลาย่างตัวเล็กๆย่างด้วยไฟฟืนใหม่ๆให้คนละตัว มีเนื้อชิ้นเล็กๆ กินกับข้าวสวยญี่ปุ่น และมีผลไม้๔-๕ชิ้นเป็นอาหารหวาน มีชาเขียวร้อนๆให้จิบแก้หนาว เป็นอาหารที่อร่อยทุกชนิด ปริมาณไม่มากไป ไม่น้อยไปกินกำลังอิ่มพอดีๆ
อาหารเช้าที่Shirakawa-go |
อาหารเย็นที่Shirakawa-go |
งานเลี้ยงตอนเย็น เขาเลี้ยงอาหารญี่ปุ่นที่ภัตรคาร มีอาหารหลากหลายชนิด แต่ละชนิดมีปริมาณไม่มาก มีผักหลายชนิด ทยอยเสริฟ อร่อยสุดๆ กินแล้วอิ่ม แต่ก็ไม่ถึงกับรู้สึกอิ่มเกินไป
เลี้ยงใหญ่หลังเสร็จประชุมที่Minamata
มีข้อมูลว่าคนญี่ปุ่นมีปัญหาโรคอ้วน น้ำหนักเกินต่ำกว่าคนอเมริกันถึงเกือบ๑๐เท่า
ที่จริงอาหารไทยของเราก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าอาหารญี่ปุ่น แต่เรากลับเปลี่ยนพฤติกรรม หนีออกจากอาหารไทย ไปนิยมอาหารที่ด้อยคุณค่าที่มากับบริโภคนิยมสมัยใหม่ ไปกินหวาน มัน เค็มกันมาก กินผักน้อยลง และกำลังพาเผลอพากัน “กินเกินพอดี”มากขึ้นเรื่อยๆจนเกิดปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกิน ทวีปริมาณและความรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว น่าหวั่นใจ
ติดตามตอนต่อไป เร็วนี้ๆ
เกร็ดญี่ปุ่น ตอนที่ 1 วินัยพื้นฐาน >>คลิก<<
เกร็ดญี่ปุ่น ตอนที่ 2 “ใฝ่เรียนรู้” >>คลิก<<
เกร็ดญี่ปุ่น ตอนที่ 3 และ 4 >>คลิก<<