เกร็ดญี่ปุ่น (5-6) โดย อำพล จินดาวัฒนะ บันทึกการเดินทางระหว่างประชุม “Empowering Communities and Building Social Consensus : International Seminar on HIA”

เกร็ดญี่ปุ่น

โดย อำพล จินดาวัฒนะ

ตอน ๕ เรียนรู้จากอดีตเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

เมื่อเกือบ๖๐ปีก่อน เกิดเหตุการณ์การเจ็บป่วยของชาวบ้านที่เมืองMinamataอันเนื่องมาจากการได้รับสารปรอทเข้าไปในร่างกาย จากการกินปลาและอาหารทะเล ซึ่งได้รับสารปรอทจากน้ำเสียจากโรงงานบริษัท Chissoที่ปล่อยลงทะเลโดยไม่ผ่านการบำบัด มีผู้ป่วยมีอาการทางสมองอย่างรุนแรง ล้มตายไป มีผู้พิการ และมีเด็กพิการแต่กำเนิดเป็นจำนวนมาก รวมกันหลายพันคน ซึ่งผลกระทบด้านสุขภาพร้ายแรงเช่นนี้ ยังต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าเวลาผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม

กรณีนี้ เป็นเหตุการณ์ร้ายด้านสุขภาพดังไปทั่วโลก
 

ผอ.พิพิธภัณฑ์Minamataกล่าวต้อนรับ

เป็นการสอนคนทั้งโลกว่า การพัฒนาที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ไม่ให้ความสำคัญในมิติด้านสุขภาพและสังคม แม้ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ประเทศมั่งคั่งขึ้น มีผู้ร่ำรวยเงินทองมากขึ้น แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของผู้คนจำนวนไม่น้อยได้มากด้วยเช่นกัน
เรื่องนี้เตือนเราว่า นโยบายสาธารณะต่างๆ โครงการพัฒนาต่างๆ จะคิดเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมและสุขภาพไปพร้อมๆกันด้วย
 

ผังแสดงจำนวนผู้ป่วยโรคMinamata

หลังจากนั้น ญี่ปุ่นปรับนโยบายพัฒนาประเทศ หันมาส่งออกอุตสาหกรรมไปยังประเทศอื่น บ้านเราเป็นประเทศหนึ่งที่เปิดรับอุตสาหกรรมใหม่เข้าพอดี ที่เห็นชัดเจนคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเมื่อ๒๐กว่าปีก่อน ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ต้องแลกด้วยผลกระทบด้านสุขภาพและสังคมอย่างมากมาย ดังที่เห็นในปัจจุบันและอาจจะเห็นอีกมากในอนาคต

หนึ่งในภาพที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์

วันนี้เรามีการพัฒนาเครื่องมือ “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ” (Health Impact Assessment: HIA)ขึ้นมาใช้ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากการพัฒนาต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญและในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ และมีการพัฒนาการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

เราไปประชุมที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ ก็เพื่อไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งที่นั่นมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งทำงานอย่างกัดติดต่อเนื่อง ประกอบด้วย Pr. Miyakita, Pr.Hanadaและเครือข่าย ซึ่งทำงานเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมและคนในชุมชนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด

คนกลุ่มนี้เป็นนักวิชาการที่มีจิตสาธารณะสูง มุ่งทำงานด้วยการใช้วิชาการนำ เชื่อมโยงกับเพื่อนภาคีทั้งในและต่างประเทศ โดยมีความปรารถนาที่จะนำบทเรียนอันเจ็บปวดของพี่น้องชาวญี่ปุ่น ผ่านการทำงานทางวิชาการและการทำงานกับเครือข่ายต่างๆเพื่อนำไปสู่การป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นในประเทศอื่นที่กำลังมีการพัฒนาตามหลัง

คุณสมพร เพ็งค่ำ ผอ.ศูนย์ประสานงานเอชไอเอ.ของสช.รู้จักกับอาจารย์กลุ่มนี้ในการประชุมนานาชาติที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อ๓-๔ปีก่อน และได้เชื่อมโยงทำงานร่วมกันเรื่อยมา ซึ่งเป็นการทำงานแบบเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เป็นลมใต้ปีกหนุนเสริมกันและกัน

สมัยเรียนแพทย์เมื่อ๓๐กว่าปีก่อน ผมเคยเรียนเกี่ยวกับโรคมินามาตะแต่เป็นการเรียนในมิติด้านการแพทย์ แต่เมื่อทำงานด้านสุขภาพในมิติที่กว้างขึ้น จึงได้เรียนรู้เรื่องเดียวกันเพิ่มเติมขึ้นในมิติด้านสังคมและสุขภาวะ เกี่ยวข้องไปถึงทิศทางการพัฒนาและนโยบายสาธารณะต่างๆที่มีความกว้างและสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก

ทำให้ยืนยันได้ชัดเจนว่า ารทำงานด้านสุขภาพ ต้องคิดและมองไปให้ไกลกว่าเรื่องการแพทย์หรือมดหมอหยูกยา ไปให้ถึงเรื่องนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ(Healthy Public Policy) เรื่องปัจจัยด้านสังคมที่กระทบต่อสุขภาพ(Social Determinants of Health) และเรื่องการให้ความสำคัญกับมิติสุขภาพในทุกนโยบายสาธารณะ(Health in All Policies)

………………………………………………………………………………..

ตอน ๖ ที่หมู่บ้านมรดกโลก เห็นการผสานเทคโนโลยี

ลูกสาวเล่าให้ผมฟังถึงชุมชนมรดกโลก ชื่อShirakawa-go ว่าถ้าไปญี่ปุ่น น่าจะไปเที่ยวสักครั้ง ไปครั้งนี้จึงวางแผนไปนอนค้างสักคืน จองที่พักทางอินเตอร์เน็ต Japanese Guest Housesเดินทางจากเกียวโตด้วยรถไฟชินกันเซน ถึงสถานีNagoya ต่อรถไฟท้องถิ่นไปอีก๒ชั่วโมงครึ่ง ถึงเมืองTakayamaแล้วต่อรถบัสประจำทางไปอีกเกือบ๑ชั่วโมง เป็นการเดินทางไกลพอสมควร แต่สะดวกและราบรื่นดีมาก เพราะระบบขนส่งมวลชนในประเทศญี่ปุ่นมีมาตรฐานดีเยี่ยม ถ้ารู้จักวางแผนล่วงหน้า การเดินทางจริงจะง่ายและสะดวกมาก

วันไปถึง หิมะแรกมาเยือนพอดี

สุดสวย
เช้าวันรุ่งขึ้น หิมะหนากว่าวันวาน และยังตกต่อเนื่อง

 

หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมในชนบท รายล้อมด้วยภูเขา บ้านเรือนมีลักษณะเฉพาะ สวยงามแปลกตาสำหรับคนนอก ทางการส่งเสริมให้ชาวบ้านเปิดบ้านที่คล้ายกับโรงนา ทำเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว                 

เวลาเช็คอินคือสามโมงเย็น เร็วกว่านั้นไม่ได้ เพราะกลางวันเขาหยุดพัก วันรุ่งขึ้นเช็คเอ๊าท์เวลา ๐๙.๓๐น. เขาให้พักแค่บ้านละ๑คืนเท่านั้น ถ้าใครอยากอยู่ต่ออีกวันสองวันก็ต้องเก็บข้าวของเช็คเอ๊าท์ ฝากของไว้ รอจนบ่ายสามค่อยไปเช็คอินเข้าพักที่บ้านหลังอื่นต่อไป

ห้องนอนเป็นแบบพื้นบ้าน มีโต๊ะเตี้ยสำหรับนั่งจิบชา ช่วงค่ำตอนที่เรากินอาหารเย็น เขาจะมาปูที่นอนบนพื้นเตรียมให้เราเข้านอน มีเครื่องทำความร้อนไว้บริการ ไม่ต้องกลัวหนาวตาย

คุณลุงอายุมากแล้ว มีหน้าที่จุดไฟด้วยฟื้นเพื่อต้มน้ำ ย่างปลาส่งกลิ่นหอมหวน และช่วยปูที่นอน เก็บที่นอน ซึ่งเป็นงานที่หนักเอาการ

คุณป้าทำอาหาร โดยมีเด็กสาวคนหนึ่งเป็นผู้ช่วย วันที่ผมไปพัก ต้องดูแลลูกค้า ๑๓คน ทุกอย่างบริการแบบวิถีชาวบ้าน
ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ คนสูงอายุจึงยังต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะทำไม่ไหว

ที่น่าทึ่งคือ ห้องอาบน้ำ อ่างน้ำร้อน ห้องส้วม อ่างล้างหน้า และสุขภัณฑ์ต่างๆที่จัดไว้ให้ใช้มีคุณภาพดีและได้มาตรฐานแบบที่เห็นตามโรงแรมและสถานที่อื่นๆ

ผมแอบดูในครัว เห็นอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆทันสมัยมาก แสดงว่ามีการสนับสนุนการจัดการและการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปผสมผสาน เป็นกองหนุนสำหรับกิจการบริการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน ที่ไม่ได้ปล่อยให้ชาวบ้านใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมไปตามยถากรรม

โชคดีที่เป็นของแถมสำหรับผมและภรรยาเพราะวันที่ไปถึง หิมะตกเป็นวันแรก ต้อนรับเราพอดี จึงเป็นบรรยากาศที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนเมืองร้อนอย่างเรา