ปัญหามากกว่าตาเห็น Silent Killer-กรณีน้ำมันรั่ว

อ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร
July 30, 2013 at 1:08pm

ปัญหามากกว่าตาเห็น Silent Killer – กรณีน้ำมันรั่ว
(และกรณีหนองแหน แม่สอด คลิตี้ มาบตาพุด และ กรณีอื่นๆ….ที่เราอาจจะลืมไปแล้ว….)

สืบเนื่องจากที่เพื่อนผม ถามเรื่องกรณีการจัดการน้ำมันรั่วที่ระยอง ซึ่งไปถึงเกาะเสม็ด และได้นั่งดูข่าวการจัดการและสถานการณ์เลยกังวลกับวิธีคิดและการมองปัญหาของประเทศเล็กน้อยว่าจะซ้ำรอยเดิม หลายกรณี วันที่ 28-29 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันที่ผมยุ่งมากเพราะจัดงานประชุมนเรศวรวิจัย session การฟื้นฟูและลดผลกระทบจากการปนเปื้อนสารอันตรายในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยซึ่งมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก (กรณีแคดเมียม ถ้าสังคมยังจำได้…9-10 ปีแล้วนะครับ ปัญหายังอยู่เลย) ยังมีกรณีคลิตี้ (15 ปีแล้วมั้ง) แต่เราไม่ได้เชิญพี่ๆชาวบ้านคลิตี้มาเนื่องจากเดินทางลำบาก กรณีพิจิตรก็มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีกรณีการลักลอบทิ้งจากหนองแหนด้วย

แล้วอยู่ดีๆก็มีกรณีน้ำมันรั่วเข้ามา…

ภาพจาก http://www.posttoday.com
 

เพื่อนถามว่า 1 วันจัดการเสร็จไหมตามที่ให้สัมภาษณ์ ผมบอกไม่รู้นิยามคำว่าเสร็จ…เมือเช้าดูข่าวว่า 3-7 วันเสร็จนิยามคำว่าเสร็จน่าจะหมายถึงทำให้ปัญหามันพ้นไปจากสายตา คือทำให้มองไม่เห็น (ตามการตีความของผม) ถ้าใช่นิยามนี้อาจจะ “เสร็จ” (ปิดงานได้?) เช่น ใส่สารเคมีทำให้น้ำทันจม (ก็มองไม่เห็นล่ะเพราะจมลงไป) แล้วให้จุลชีพค่อยๆกินไปน้ำมันจนหมด…ในบรรดาปรากฏการณ์ในการสลายสารประกอบด้วย เคมี กายภาพ และ ชีวะ (ใช้จุลชีพ) เป็นที่ทราบกันในทางวิชาการว่าวิธีทางชีวภาพช้าที่สุด…(และถูกสุด) คล้ายๆธรรมชาติบำบัดครับ เช่น ตะกอนปนเปื้อนน้ำมันก็ขุดลอกออกไป ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องพึงกระทำอย่างเร่งด่วน และขอชื่นชมที่เร่งจัดการ แม้ทรัพยากรในการจัดการดูจะขาดแคลนไปสักนิด แต่ แต่ แต่..นี่ไม่ใช่ทั้งหมดของการแก้ไขปัญหา

น้ำมันดิบประกอบด้วยสารเคมีมากมายตามธรรมชาติของมัน หลายต่อหลายชนิดเป็นสารอันตราย เช่น BTEX (benzene, tolune, ethylenebenzene, xylene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและเป็นพิษต่อระบบนิเวศ สารพวกนี้อยู่ในน้ำมันเมื่อสัมผัสน้ำทะเล ตามหลัก thermodynamics จะละลายลงน้ำและระเหยสู่อากาศ ที่ลงน้ำไป “มองไม่เห็น” แต่อันตราย (ดู http://www.bt.cdc.gov/gulfoilspill2010/pdf/chemical_constituents_table.pdf)

ค่าสารปนเปื้อนเหล่านี้ที่ยอมรับได้อยู่ในหลักส่วนในล้านส่วน หรือส่วนในพันล้านส่วน น้ำมันที่รั่วไปขนาดนั้นย่อมก่อให้เกิดการละลายของสารพิษเหล่านี้สู่ทะเล โดยเรามองไม่เห็นแต่อันตราย และต้องได้รับการจัดการด้วยหลังการเอาคราบน้ำมันออกไปแล้ว ถ้าเป็นการจัดการที่ครบถ้วนและต้องการจะปกป้องระบบนิเวศและสุขภาวะสาธารณะจริงๆ (สารพวกนี้สะสมในสัตว์น้ำและถ่ายเทสู่คนได้) หวังว่าปัญหาจะไม่จบแค่เอาคราบน้ำมันออก อยากให้จัดการ Dissolved Plume ที่ละลายน้ำขอสารเหล่านี้ด้วย ข่าวก็ว่ากรมโรงงานวัย Benzene ได้ 30 mg/L ตัวนี้แหละ Dissolved Plume ที่ผมพูดถึง ไม่มีสี ใส แต่มีพิษ

อนึ่งการใส่สารเคมีให้น้ำมันจมลงไปในน้ำทะเลแล้วให้จุลชีพค่อยๆกัดกิน จะยังคงมีการชะละลายของสารพิษที่กล่าวข้างต้นมากับน้ำทะเล โดยใสๆมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทีนี้ก็ขึ้นกับการแข่งขันกันทาง Kinetics ว่าจุลชีพจะกินสารน้ำมันได้ไวกว่า หรือ น้ำมันจะชะละลายสารพิษออกมาได้ไวกว่า ทางผู้จัดการปัญหาน่าจะมีรายการคำนวณเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือก หรือ ไม่เลือกใช้วิธีใดๆน่ะครับ ตกลงกว่าจุลชีพจะกินหมด BTEX ละลายลงทะเลมากเท่าใด เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน (เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารไฟม?)

สำหรับ อาจารย์ หรือนักวิจัยที่มีความรู้ด้าน Fate and Transport และอาจเกิดคำถามว่าในน้ำทะเลที่มีเกลือสูงน้ำมันดิบจะละลาย BTEX ลงมาได้หรือ ผลของไอออนที่เข้มข้นมากในทะเลจะทำให้เกิดปรากฎการณ์ Salting Effect ที่จะทำให้น้ำมันละลาย BTEX ลงมาได้น้อยลงหรือไม่ ผมก็ถามตัวเองเหมือนกัน ดูงานวิจัย http://link.springer.com/article/10.1007%2FBF00226479 ก็จะรู้ว่ายังไงก็ละลายครับ และยิ่งปริมาณน้ำมันรั่วเยอะ Flux ของ BTEX และสารพิษอื่นๆก็ยิ่งมาก ฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามี Dissolved Plume ของสารอันตราย BTEX และอื่นๆที่มองไม่เห็นแน่ๆ (แล้วจะเอากระดาษทิชชู่ไปซับออกยังไงเนี้ย?? อ้อพี่ๆที่ไปซับใส่หน้ากากกันสารพิษระเหยด้วยน่ะครับ BTEX มันระเหยและก่อมะเร็งครับ ยิ่งปริมาณเยอะๆขนาดนั้น..) ไม่อยากให้กรณีนี้เป็นเหมือนกรณีที่ผ่านๆมาเพราะ ปตท แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเข้ามาจัดการปัญหาซึ่งน่าชื่นชมกว่าหลายๆกรณีที่เคยได้สัมผัสมา อย่างไรก็ดีอยากให้มองปัญหาให้ตลอดครับ

ไม่อยากให้กรณีน้ำมันรั่วเป็นเหมือนกรณีหนองแหนซึ่งฝังบ่อลักลอบทิ้งไปแล้วแต่ชาวบ้าน (และนักวิชาการ) ยังถามว่าไม่มี Dissolved Flux จากสารพิษที่รั่วไหลไปแล้ว และที่ถูกดูดซับอยู่ในดินจริงหรือ (หรือหลัก Chemical Fate and Transport ที่สอนๆกันอยู่มีข้อยกเว้นใช้กับประเทศไทยไม่ได้…) ชาวบ้านปลอดภัยแล้วจริงๆหรือ

ไม่อยากให้กรณีน้ำมันรั่วเป็นเหมือนกรณีคลิตี้ที่บอกว่าตะกั่วในน้ำต่ำ ค่อยๆให้ธรรมชาติบำบัดไป แต่ตะกั่วในตะกอนสูงจนคนอยู่ที่นั้นกินปลาไม่ได้ ลงเล่นน้ำ ใช่น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคไม่ได้ (อยู่ในป่าลึกมาก ไม่มีน้ำประปามากนัก ไม่มีระบบกรองที่จะแยกตะกอนเล็กๆออกจากน้ำได้ทั้งหมด) และเราไม่สามารถบังคับปลาว่าอย่ากินตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่วได้…ฝนตกทีตะกอนตะกั่วก็ฟุ้งที มองสิ่งแวดล้อมให้ครบส่วนครับ อย่าเลือกมอง

ไม่อยากให้กรณีน้ำมันรั่วเป็นเหมือนกรณีแม่สอด และเหมืองต่างๆที่ถ้ามีปัญหามลพิษ ก็แก้ปัญหาโดยการไม่ใช่ทรัพยากร เลี่ยงๆไป ฝังปัญหาไว้ ไม่มีคนโวยแปลว่าจบ ไม่ได้ยินใครโวยแปลว่าจบ

ปัญหามากกว่าตาเห็น วันนี้เรามองผลกระทบต่อเกาะเสม็ดว่าเป็นปัญหาใหญ่เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรทางทะเล ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่กับของชาวบ้านหนองแหนที่ใช้น้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนและเสี่ยงต่อการปนเปื้อนมากกว่านี้ในการอุปโภค บริโภค (ไม่มีน้ำประปา) ปัญหาเค้าใหญ่ไหม? ชาวบ้านคลิตี้ใจกลางป่าไม่มีแหล่งอาหารอื่นนอกจากของป่า และสัตว์น้ำในลำห้วยปนเปื้อนตะกั่ว ปัญหาเค้าใหญ่ไหม? แม่สอดล่ะ ปลูกข้าวไม่ได้ ประกอบอาชีพไม่ได้ และ ปัญหาเหมืองทองต่างๆที่มี Cyanide และ โลหะหนักที่เค้าต้องใช้น้ำใต้ดิน ปัญหาเค้าใหญ่ไหม? ปัจจัย 4 อาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่มห่ม (สถานที่ท่องเที่ยว??)

ไม่อยากให้นิยามของปัญหาคือน้ำมันรั่วดำดูไม่ดีสูบออกลอกออกอย่างเดียวพอจะได้จบ ไม่อยากให้บ่อฝังกลบยังมีสื่อมาขุดคุ้ยได้ ก็กลบๆมันซะ ไม่อยากประชาชนบ่นก็หาน้ำมาให้เค้าใช่ จ่ายค่าชดเชยไป จบ ปรากฏการณ์ธรรมชาติการแพร่กระจายของสารพิษ การเกิดพิษ ความอันตรายมันไม่จบกับเราครับวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมมีวิธีการจัดการให้ได้หมด…แต่ไม่ง่าย และไม่ถูก แต่จัดการได้ ขึ้นกับว่าสังคมเราจะเอายังไงกับความปลอดภับสาธารณะจากสารอันตราย และความปลอดภัยของระบบนิเวศจากสารอันตรายที่มองไม่เห็นไม่เป็นไร เพราะมองไม่เห็น และไม่มีเสียงโวย
 
หมายเหตุ
เรา ม.นเรศวร ร่วมกับศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสำน้กงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จะจัดแสดงงานวิจัยที่เกี่ยวกับสารพิษและการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน ใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2556” (Thailand Research Expo 2013) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติระหว่างวันที่ 23-27สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ บู้ท มน. C16 ใครสนใจก็ไปเยี่ยมชมได้นะครับ