ขยะพิษหนองแหน: มรดกมรณะจากอุตสาหกรรมและมหานคร

 ขยะพิษหนองแหน: มรดกมรณะจากอุตสาหกรรมและมหานคร

เรื่องและภาพ ปิยกุล ภูศรี

สนับสนุนโดย ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

25 กุมภาพันธ์ 2556

เป็นวันที่ชื่อของ ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ปรากฏในสื่อมวลชนทุกแขนงอีกครั้ง จากกรณีการสังหารผู้ใหญ่บ้านประจบ เนาวโอภาส หรือ ผู้ใหญ่จบ แกนนำต่อต้านการบ่อทิ้งขยะพิษในพื้นที่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นกับแกนนำในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชน และต่อสู้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิต ที่เกิดขึ้นจากกิจการของพวกเขา

ถึงแม้ว่าในตอนนี้ ตำรวจจะสามารถจับตัวผู้ลงมือสังหารผู้ใหญ่จบ และผู้สั่งการซึ่งเกี่ยวข้องกับการทิ้งขยะพิษในพื้นที่ได้แล้ว แต่ผู้ใหญ่จบก็ไม่ใช่คนหนองแหนคนแรกที่ต้องเสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2555 นายสุเทพ ทองคำ อดีตสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหนที่มีบทบาทในการต่อต้านการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารพิษลงสู่แหล่งน้ำใน ต.หนองแหน ก็ถูกมือปืนสังหารเสียชีวิตไปก่อน และขณะนี้ยังไม่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ และสิ่งที่ชาวหนองแหนต่อสู้กับมันมาตลอด คือสารพิษที่อยู่ในน้ำและดินของ ต.หนองแหน ก็ยังคงอยู่ ซึ่งเศษซากจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านั้นก็ได้ทำลายวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรกรรมแห่งนี้ลงอย่างช้าๆ

……….

24 สิงหาคม 2556

ชาวชุมชนหนองแหนส่วนหนึ่งได้มาแบ่งปันประสบการณ์เลวร้ายจากขยะพิษที่ถูกนำมาทิ้งในชุมชนของพวกเขา ภายในวงเสวนาเรื่อง “ชุมชนหนองแหน กับการลักลอบทิ้งขยะพิษจากอุตสาหกรรม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสวนา “ประเทศไทยเปื้อนพิษ” ในมหกรรมการวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo โดยตัวแทนชาวบ้านซึ่งประกอบอาชีพปศุสัตว์ และเกษตรกรรม กล่าวว่า บ่อทิ้งขยะใน ต.หนองแหน มีทั้งบ่อทิ้งขยะจากอุตสาหกรรม และบ่อทิ้งขยะครัวเรือนที่เกิดจากการบริโภคของชาวกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบ่อทิ้งขยะที่ได้รับอนุญาตจากทางการให้สามารถดำเนินกิจการกำจัดขยะได้ ซึ่งบ่อทิ้งขยะเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพวกเขาในหลายๆ ด้าน ทั้งปัญหาสุขภาพที่เกิดจากกลิ่นเหม็นซึ่งมาจากกองขยะ ทำให้เกิดอาการไอ ปวดศีรษะ ซึ่งกลิ่นเหม็นนี้ยังส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการจ้างงานในพื้นที่อีกด้วย เนื่องจากกลิ่นที่เหม็นเกินจะทานทนทำให้ผู้ใช้แรงงานปฏิเสธที่จะทำงานในพื้นที่ซึ่งอบอวลไปด้วยกลิ่นเหม็นจากขยะ ผู้ประกอบการปศุสัตว์ และเกษตรกรรมในพื้นที่จึงขาดแคลนแรงงานในการผลิต นอกจากนี้ ภายหลังการเข้ามาของบ่อทิ้งขยะ ผลิตผลทางการเกษตรอย่างมะม่วง ยางพารา และผลิตผลทางปศุสัตว์ คือ หมู ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยผลิตผลิตมะม่วง และยางพาราต่างลดลงมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และหมูเกิดอาการเจ็บป่วย หมูแม่พันธุ์แท้ง และลูกหมูที่เพิ่งเกิดออกมาตายยกครอก จนทำให้เกษตรกรในพื้นที่บางรายต้องยุติกิจการหลังการเข้ามาของบ่อทิ้งขยะ…ขยะ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการบริโภคโดยตรงของชาวบ้านในพื้นที่

……….

ความเลวร้ายที่อันตรายยิ่งกว่ากลิ่นเหม็นที่มาจากขยะพิษเหล่านี้ก็คือ สารพิษ ที่มาจากของเสียจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ซึ่งปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันรายต่อสิ่งมีชีวิต ได้และรั่วซึมลงสู่ผืนน้ำและแผ่นดินหนองแหน โดย ดร.ธนพลเพ็ญรัตน์ หน่วยวิจัยเชิงบูรณาการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ร่วมกับทีมวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) และ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษครศาสตร์ ระบุว่า สารอันตรายที่อยู่ในน้ำและดินของ ต.หนองแหน คือสารฟีนอล (Phenol) บิสฟีนอล เอ (Bisphenol A)

อันตรายของสารฟีนอล ได้แก่ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เกิดอาการคลื่นไส้ ทำให้เกิดความบกพร่องต่อระบบประสาท มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ ตับ ระบบหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งอาจนำมาสู่สภาวะหัวใจล้มเหลว ส่วนสารบิสฟีนอล เอ เป็นสารก่อมะเร็งที่ไปรบกวนการำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ฮอร์โมน และมีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งเม็ดเลือด และมะเร็งเต้านมในมนุษย์

และมีการตรวจพบสารทั้งสองชนิดนี้ รวมถึง สังกะสี และ แมงกานีส ซึ่งเป็นโลหะหนักในร่างกายของชาวหนองแหนบางส่วนแล้ว…

……….

สำหรับมาตรการในการกำจัดสารพิษที่อยู่ในพื้นที่ ต.หนองแหน ดร.ธนพล ได้เสนอแนวทางแก้ไขโดยแบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สำหรับในระยะสั้น จำเป็นที่จะต้องออกแบบและติดตั้งระบบบำบัดสารฟีนอลและสารอินทรีย์อันตรายในบ่อน้ำตื้นที่มีการปนเปื้อนโดยใช้โอโซน (Oxidant) และกำจัดแหล่งปนเปื้อนเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายขยายวงออกไป ในระยะกลาง คือการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนโดยใช้สหวิทยาการหลายชนิด เช่น การปลูกหญ้าแฝกซึ่งมีความสามารถในการดักจับฟีนอลร่วมกับเทคนิคทางวิศวกรรมฟื้นฟู สำหรับในระยะยาว พื้นที่ ต.หนองแหน ควรได้รับการสำรวจอย่างต่อเนื่องเพื่อดูว่าสารพิษมีการแพร่กระจายหรือไม่ และหากพบว่ายังมีสารพิษอยู่ในพื้นที่ใดก็จะได้จัดการตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะเป็นการดีกว่าการปล่อยให้สารพิษแพร่กระจายออกไป และต้องใช้งบประมาณในการจัดการเพิ่มขึ้นอีกมาก

 แม้ว่าแผนฟื้นฟูข้างต้นจะยังไม่มีการปฏิบัติจริงในพื้นที่ ต.หนองแหน แต่ก็มีสัญญาณที่ดีจากภาครัฐซึ่งได้ให้ความสนใจกรณีพื้นที่ปนเปื้อนของ ต.หนองแหน โดย สมพร เพ็งค่ำ จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาว่า หลังจากชาวบ้านในพื้นที่ได้ยืนหนังสือร้องเรียนให้กับนายกรัฐมนตรีระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.ฉะเชิงเทรา สำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้มีหนังสือมายังกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในการตรวจพิสูจน์หาการปนเปื้อนสารพิษในพื้นที่ และขอข้อเสนอแนะในการบำบัดฟื้นฟูพื้นที่จากทั้งสามหน่วยงานข้างต้น ซึ่งในตอนนี้ก็ได้มีการสรุปผลการศึกษาเบื้องต้นเพื่อเตรียมเสนอกลับไปยังสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อรับการพิจารณาโดยผู้รับผิดชอบระดับสูงต่อไป

ก็นับว่าเป็นประกายความหวังที่ชาวบ้านเริ่มมองเห็นหลังจากพวกเขาต้องต่อสู้ด้วยพละกำลังของตนเองมาอย่างเข้มข้น และเหน็ดเหนื่อย จนต้องสูญเสียสมาชิกในชุมชนไปเนื่องจากการต่อสู้กับอำนาจทุนจากนอกพื้นที่ และเราหวังว่าพวกเขาจะได้ชุมชนเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์กลับมาอีกครั้ง โดยไม่ต้องสูญเสียใครจากการต่อสู้ครั้งนี้อีกต่อไป