กว่าจะเป็น “ทอง” ชุมชนต้องเปื้อนพิษ ขุมทรัพย์ใต้ดินที่แลกมาด้วยชีวิต

กว่าจะเป็น “ทอง” ชุมชนต้องเปื้อนพิษ ขุมทรัพย์ใต้ดินที่แลกมาด้วย

เรื่องและภาพโดย ตะวัน พงศ์แพทย์
สนับสนุนโดย ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

ความรู้สึกแรก
“ตอนแรกที่รู้ทุกคนในหมู่บ้านก็ดีใจมาก แค่บอกว่ามีทองคำทุกคนก็อยากจะขุดขึ้นมาเองแล้วค่ะ” เป็นคำบอกเล่าถึงความคิดย้อนหลังของ ชนัญธิดา ฉากกลาง ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำจากจังหวัดพิจิตร

ในความคิดของชาวบ้านทุกคนก็คล้ายกันเมื่อจะมีการเปิดเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ซึ่งนั้นหมายถึงเรื่องเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและทำให้ทุกคนมีงานทำดังนั้นการทำประชาคมจึงผ่านไปอย่างง่ายดาย แต่สิ่งที่ชาวบ้านไม่รู้เลยคือข้อมูลเกี่ยวกับการทำเหมืองต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เช่นกระบวนการผลิต การสกัดแร่ด้วยสารเคมี เรื่องการมีบ่อเก็บกากแร่ที่มีสารไซยาไนด์ซึ่งอาจเกิดการรั่วซึมได้หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงให้เป็นสารหนูที่เป็นอันตรายอีกเช่นกัน จนชาวบ้านมารู้ตัวอีกทีว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน

ชนัญธิดาได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่าชาวบ้านไม่เคยรู้ว่าการทำเหมืองแร่ทองคำต้องใช้น้ำมากเป็นอันดับหนึ่งแล้วก็ใช้สารเคมีในการสกัดมากเป็นอันดับหนึ่งอีกเช่นกัน และน้ำที่ใช้ภายในหมู่บ้านก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อใช้น้ำจากแหล่งนั้นก็มีอาการคันผิวหนัง น้ำที่เคยใช้ดื่มได้ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นซื้อน้ำกิน ข้าวที่ปลูกก็ได้ผลผลิตไม่เหมือนเดิมและน้ำเริ่มขาดแคลน นั่นยังไม่นับเรื่องเสียงจากการระเบิดเหมืองและฝุ่นควันที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากศซึ่งส่งผลต่อระบบการหายใจของคนในชุมชน ซึ่งบางครอบครัวที่ไปตรวจสุขภาพก็พบว่ามีสารไซยาไนด์และสารหนูกันทั้งครอบครัว และที่สำคัญคือการซื้อขายที่ดินจากชาวบ้านเพื่อขยายบริเวณเหมืองแร่ของบริษัท “ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป”

 

เช่นเดียวกันกับที่จังหวัดเลย สภาพก็ไม่ได้ต่างไปจากพิจิตรนักทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม อาหารหรือแม้แต่สุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปและสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ “ภูเขาที่เห็นจะเตี้ยลงทุกวันๆ แต่กองเก็บกากแร่จะสูงขึ้นๆ” วัชราภรณ์ วัฒนขำ นักปฏิบัติการประเมินผลกระทบระดับชุมชนกรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย เปรียบเทียบให้ฟังจากสิ่งที่เห็น แต่สิ่งที่เห็นก็อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการทำงานและเคลื่อนไหวของชุมชนในเรื่องของการแก้ปัญหา ดังนั้นสิ่งที่จะเข้ามาช่วยเสริมให้มีข้อมูลที่เพียงพอว่าการทำเหมืองนั้นส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจริงๆ นั่นก็คือ “ข้อมูลเชิงวิชาการ” ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ จากคณะวิศวกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสริมว่า “การที่จะทำให้ข้อมูลน่าเชื่อถือต้องเกิดจากการเก็บที่เป็นระบบ เพราะเรื่องฐานข้อมูลจะช่วยได้และต้องทำอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาที่พบในตอนแรกของพื้นที่คือขาดความต่อเนื่องเมื่อจะฟ้องร้องก็มาตรวจกันทีหนึ่ง ดังนั้นการมีข้อมูลที่ชี้ชัดก็จะระบุได้ว่าเชื่อมโยงกับปัญหาเหมืองแร่หรือไม่”

วัชราภรณ์เล่าว่า สิ่งที่ชาวบ้านทำได้ก็คือการเก็บข้อมูลจากการสังเกตปรากฎการณ์สิ่งรอบตัวที่ส่งผลให้วิถีชีวิตแย่ลงเป็นตัวชี้วัดเช่นเรื่องของอาหาร สิ่งแวดล้อม สภาพเศรษฐกิจแล้วก็การจัดเก็บของข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลวิชาการซึ่งบทเรียนจากพื้นที่อื่นเช่นที่พิจิตร ทางจังหวัดเลยก็นำข้อมูลนั้นมาเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น “เพราะตอนที่เริ่มทำโครงการเหมืองที่จังหวัดเลย บริษัทก็ไม่ได้บอกข้อมูลกับชาวบ้านทั้งหมดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง” วัชราภรณ์เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์แรกเริ่มในการทำงานข้อมูลในพื้นที่

เริ่มต้น การประเมินความเสี่ยง
เริ่มจากเครือข่ายนักวิชาการการประเมินผลกระทบสุขภาพ หรือ HIA Consortium ที่มาจากหลายสถาบันการศึกษาลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชาวบ้านและได้ลงไปที่จังหวัดเลยเมื่อต้นปี ๒๕๕๖ ที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ที่มีเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัททุ่งคำ จำกัด เปิดดำเนินการอยู่ พบกับชาวบ้านที่มีอาการเจ็บป่วยและที่น่าสนใจคือมีชาวบ้านอย่างน้อย ๓ รายที่มีอาการเจ็บป่วยคล้ายกันและได้ดูจากประวัติคือทั้ง ๓ รายนี้มีบ้านอยู่ทางท้ายเหมืองและบ่อเก็บกักแร่ก็เคยรั่วและมีการปนเปื้อนในแหล่งน้ำของชาวบ้าน ซึ่งพบว่าชาวบ้านได้กินปลาจากแหล่งน้ำนั้นและเมื่อกลับไปดูข้อมูลย้อนหลังของสาธารณสุขจังหวัดเลยที่เคยเจาะเลือดชาวบ้านและพบว่ามี ๕๑ รายที่พบสารไซยาไนด์เกินมาตราฐานและเมื่อกลับไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารไซยาไนด์ที่ใช้ในระบบการทำเหมืองว่าส่งผลอย่างไรบ้าง จึงเกิดการออกแบบการศึกษาที่ทำเป็นเชิงวิชาการที่เราเรียกว่าการประเมินความเสี่ยง

นายแพทย์พงษ์เทพ วิวัฒนเดช อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าต่อว่าจากแบบสอบถามที่ทำเราออกแบบเพื่อเก็บข้อมูลว่าอาหารที่ชาวบ้านกินไม่ว่าจะเป็นข้าว ปลา น้ำหรือผักผลไม้อะไรบ้างที่อยู่ท้ายเหมืองและชาวบ้านได้กินเข้าไปซึ่งอาจจะได้รับการปนเปื้อนจากสารต่างๆก็จะเอามาตรวจและประเมินในห้องปฏิบัติการว่ามีสารอะไรบ้างและเข้าไปสู่ร่างกายเท่าไร “ซึ่งเราก็ตรวจพบสารหนูและปรอทที่สามารถซึมไปยังแหล่งน้ำได้ และสามารถปนเปื้อนเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารได้ทันที”

เช่นเดียวกับในพื้นที่จังหวัดพิจิตร อาจารย์วิสาข์ ก็ย้ำว่าในการเก็บข้อมูลชุมชนต้องมีส่วนร่วมทั้งหมดและเกิดเป็นภาคีร่วมกันระหว่างชุมชนเพื่อให้เกิดการยอมรับข้อมูลจากทุกฝ่ายและที่สำคัญการเก็บข้อมูลต้องเก็บอย่างถูกต้องและถูกวิธี เช่น ต้องรู้ว่าวิธีการเก็บน้ำต้องเก็บอย่างไร วิธีการเก็บสารต้องเก็บอย่างไรและนำมาตรวจอย่างไรและตรวจที่ไหน “เพราะถ้าตรวจไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกวิธีเราก็อาจจะไม่เจอค่าสารไซยาไนด์ที่เกินค่ามาตราฐานเลย ดังนั้นค่าที่พบก็ต้องเชื่อมโยงกันทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และการเก็บข้อมูลต้องทำหลายๆปีและพยายามให้เกิดภาคี เช่น กรมอนามัยในจังหวัด หรือแม้กระทั่งเหมืองทองเองเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของข้อมูลเพื่อให้เกิดการยอมรับของทุกภาคส่วน” เป้าหมายสำคัญที่อาจารย์วิสาข์คิดไว้คือการเกิดศูนย์ข้อมูลและวิจัยชุมชน และทำอย่างต่อเนื่องเพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้นำข้อมูลที่ชัดเจนนั้นมาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ

ชนัญธิดาเห็นด้วยและกล่าวเสริมว่า “การใช้ข้อมูลหลักฐานจากการวิจัยที่ชัดเจนเพื่อชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นก็เพื่อความเป็นธรรมของทั้งสองฝ่ายทั้งจากตัวชาวบ้านเองและกับบริษัทเหมือง” ที่จังหวัดเลยในเรื่องการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับเหมืองก็ยังมีความห่างกันอยู่ แต่การบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น อนามัย โรงพยาบาลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการวิจัยสามารถลดช่องว่างลงได้ โดยมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเรื่องอาหารในพื้นที่เสี่ยงเพื่อตรวจหาสารปนเปื้อนและชาวบ้านก็รู้สึกว่ามีส่วนร่วมและมั่นใจมากกว่าเดิมจากที่บริษัทผู้ประกอบการเคยตรวจ และวัชราภรณ์ยังมองในอีกแง่หนึ่งว่า “กระบวนการวิจัยก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาในอนาคตได้ แต่ชาวบ้านที่ยังอยู่ในพื้นที่และได้รับปัญหาจากเหมืองแร่ เมื่อไปขอให้บริษัทแก้ไขหรือชะลอก่อนแต่เขาไม่ทำตาม และไม่ได้รับการเหลียวแล วิธีการปิดถนนก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ชาวบ้านต้องเลือกทำเพื่อที่จะให้เสียงมันดังขึ้น”

นพ.พงษ์เทพได้เสริมไว้ในประเด็นการมีส่วนร่วมไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา จะเชื่อมโยงระหว่างปัญหากับสาเหตุอย่างไร “เครื่องมือระบาดวิทยาภาคประชาชน โดยทำให้เรื่องระบาดวิทยาสามารถนำมาใช้ได้ในชุมชนเช่นการใช้แผนที่ชุมชนด้วยการให้ชุมชนเป็นผู้ลงจุดเสี่ยงจุดอันตราย โดยขั้นแรกอาจจะยังไม่ต้องพิสูจน์ว่าจุดนั้นทำให้คนป่วยหรือเปล่า และต่อมานำข้อมูลผู้ป่วยมาลงในแผนที่นั้นและสังเกตจากการกระจุกตัวของผู้ป่วยที่เป็นโรคเดียวกัน และนั่นก็สามารถเป็นข้อพิสูจน์ของจุดเสี่ยงนั้นมีผลกระทบต่อชาวบ้านได้” ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้ในการสำรวจทั้งคน พืชและสัตว์ เสียงจากชุมชนเปื้อนพิษ

ชนัญธิดา บอกว่าสิ่งที่อยากตั้งคำถามคือเราจะอยู่อย่างไรกับการกระบวนการผลิตในเหมืองแร่ที่ต้องผลิตจำนวน ๕ ล้านตันต่อปีและสิ่งที่เราอยากให้มองคือเรื่องสุขภาพของคนในชุมชนและสุดท้ายบ่อเก็บกักแร่จะไปที่ไหน ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านทำกันอยู่นี้ก็ทำเพื่ออนาคตของลูกหลานของเรา “เราต้องการให้ประเทศชาติพัฒนาแต่แค่ขอให้กลับมามองเรา มองระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป อยากให้เอากลับคืนมาให้หน่อย เราหวังกับโครงการวิจัยไว้ว่าจะสามารถสืบถึงต้นสายปลายเหตุและชาวบ้านก็จะยอมรับในผลของการวิจัยไม่ว่าจะออกมาอย่างไร เพราะเราก็รับมาตั้งแต่ต้นเมื่อเขามาเปิดเหมือง แต่แค่อยากให้บริษัทดูหน่อยว่าทำไมชาวบ้านป่วยและช่วยทำให้ระบบนิเวศของเรากลับมาเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือสิ่งแวดล้อมเราขอแค่นี้” ชนัญธิดา ฉากกลาง ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากจังหวัดพิจิตรได้กล่าวทิ้งท้าย

ทางด้าน วัชราภรณ์ วัฒนขำ จากจังหวัดเลยได้ทิ้งท้ายเชิงตั้งคำถามไว้ว่า “เรื่องมาตราฐานการควบคุมที่จังหวัดเลยจะเห็นได้ชัดเลยว่าถ้าบริษัททำผิดข้อตกลงถูกปรับเป็นเงินแค่ไม่กี่บาท แต่คำถามใหญ่ในวันนี้เราควรจะถามกันว่าเหมืองยังจำเป็นไหมกับการพัฒนาของประเทศนี้ เพราะส่งผลกระทบไปยังคนที่ถือได้ว่าเป็นคนชายขอบในเรื่องพื้นที่ทำกินอยู่แล้วและยังไปเบียดกับภาคเกษตรที่ถือว่าเป็นแหล่งอาหารของพวกเรา”