อนาคตสุรินทร์…ดินแดนโรงไฟฟ้าชีวมวล ใช่แล้วหรือ
อนาคตสุรินทร์…ดินแดนโรงไฟฟ้าชีวมวล ใช่แล้วหรือ
เรื่องและภาพโดย ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
15 ตุลาคม 2556
“เราจะย้ายโรงงานน้ำตาลก็คงจะไม่ได้ เพราะเขาลงทุนกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท แต่จะย้ายชุมชนโคกตะแบงของเราออกไปก็ไม่ได้ เราอยู่ที่นี่มาเป็น 100 ปีแล้ว” ตัวแทนผู้นำชุมชนโคกตะแบงเล่าให้เราฟังหลังจากที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลเข้ามาเปิดในพื้นที่ซึ่งหลังจากนั้นพวกเขาก็พบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชน เช่นน้ำเสีย น้ำฝนดื่มไม่ได้ นักเรียนไปโรงเรียนได้รับปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะในฤดูหนาว น้ำใช้ในบ่อน้ำตื้นของชาวบ้านแห้ง น้ำไม่พอใช้
“ตอนนี้คำถามที่เกิดขึ้นต่างกับก่อนที่จะมีโรงไฟฟ้า ตอนก่อนจะมีก็ดีใจว่าจะมีโรงไฟฟ้า ชุมชนคงจะเจริญขึ้น แต่เมื่อมีโรงไฟฟ้าแล้วคำถามก็เปลี่ยนไป ชาวบ้านจะถามกันว่าทำไมแสบจมูก ทำไมเป็นหวัด ทำไมเราเป็นโรค” ดาว บุตรเทศ ตัวแทนชุมชนโคกตะแบก ต.โคกสะอาด อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ สะท้อนประสบการณ์การอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่เดียวกัน
ปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์มีโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้ว 3 โรง คือ 1.โรงไฟฟ้ามุ่งเจริญกรีนเพาเวอร์ ตั้งอยู่ที่ ต.บุฤๅษี อ.เมือง จ.สุรินทร์ กำลังผลิต 9.9 MW ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2551 โดยมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในขณะนั้นเป็นประธาน ซึ่งปี 2552-2553 เครือข่ายองค์กรชุมชนร้องเรียนเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานต่างๆ และอุตสาหกรรมจังหวัดจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายเฝ้าระวังผลกระทบรอบโรงไฟฟ้ามุ่งเจริญกรีนพาวเวอร์
2. โรงไฟฟ้าชีวมวลมุ่งเจริญ ไบโอแมส กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 17 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงแกลบประมาณร้อยละ 40-60% ส่วนวัตถุดิบที่เหลือเป็นเศษไม้ และเปลือกไม้ เปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นปี 2556 และ 3.โรงไฟฟ้าบริษัทไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.ปรือ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ กำลังผลิต 30 MW ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงเปิดดำเนินการ และมีโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและแสงอาทิตย์อีก 8 โรงที่กำลังจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ในแผนอนุภาคภาคอีสานยังระบุว่าจะมีโรงไฟฟ้าขนาด 700 MW เกิดขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์แต่ยังไม่ระบุว่าจะเกิดขึ้นในตำแหน่งใดของจังหวัดสุรินทร์
วิจิตรา ชูสกุล ตัวแทนคณะทำงานพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์และนักปฏิบัติการเอชไอเอชุมชนกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล เล่าว่าที่มาของการนำเครื่องมือเอชไอเอชุมชนหรือ CHIA (CHIA: Community Health Impact Assessment) เกิดจากความสนใจของทั้งตัวเองและตัวแทนชุมชนที่อยากทำข้อมูล และนำข้อมูลมาใช้แก้ไขปัญหาที่สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ และเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชุมชนได้มาเรียนรู้ร่วมกัน เสริมความรู้ให้ชุมชนรวมถึงมีข้อต่อไปถึงระดับนโยบาย เพราะปรากฏการณ์โรงไฟฟ้าชีวมวลที่เกิดขึ้นทั่วประเทศพร้อมกับกระแสไม่ยอมรับและปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หากจะแก้ที่ต้นตอก็จำต้องปรับเปลี่ยนนโยบายโรงไฟฟ้าชีวมวล
การทำเอชไอเอชุมชนของที่นี่เป็นการทำหลังจากที่โรงไฟฟ้าชีวมวลเปิดดำเนินการแล้ว โดยเป้าหมายคือทำใน อ.เมือง และอ.ปราสาท เพื่อเก็บข้อมูลสถานการณ์ปัญหาที่เกิดจากโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 2 โรง ใน จ.สุรินทร์ เพื่อนำไปสู่มาตรการลดผลกระทบและเยียวยา และเริ่มต้นด้วยการไปดูกระบวนการทำงานกับชุมชนที่จะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและร้อยเอ็ด เพื่อให้ได้ประโยชน์หลัก 3 อย่าง คือ ฐานข้อมูลผลกระทบชุมชน สิทธิชุมชนในการปกป้องทรัพยากรของตนเอง และข้อเสนอเชิงนโยบาย
คำถามเริ่มต้นการทำเอชไอเอชุมชนของคนที่นี่เริ่มที่ว่า “ความสุขของคนที่นี่คืออะไร” ซึ่งหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ลมหายใจต้องดี สะอาด” หากถอดออกมาเป็นขั้นตอนทางวิชาการขั้นตอนนี้ก็คือการหาปัจจัยกำหนดสุขภาพของคนบ้านโคกตะแบก หลังจากนั้นวิจิตราและนักวิชาการในท้องถิ่นก็เริ่มแผนที่ลมเพื่อแสดงผลกระทบทางอากาศ ตามด้วยแบบสอบถามเรื่องผลกระทบจากโรงไฟฟ้า เช่น มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ มีอาการไอเรือรังหรือไม่ ซึ่งผลกระทบด้านลบที่พบค่อนข้างสูงคือโรงไฟฟ้าสุรินทร์มีปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวนความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน
ส่วนผลกระทบด้านบวกที่พบน้อยที่สุดคือรายได้ ชุมชนขายอ้อยและข้าวให้โรงไฟฟ้าได้บ้างแต่ไม่มากนัก พบผลกระทบเรื่องน้ำดื่มคือเมื่อน้ำฝนกินไม่ได้ต้องซื้อน้ำดื่มทำให้ 609 ครัวเรือนในบ้านโคกตะแบงต้องเสียเงินซื้อน้ำราว 2,800 บาทต่อปี นับเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ยังพบปัญหาว่าข้อมูลสุขภาพของชุมชนจะถูกติงให้ทำการพิสูจน์เหมือนเช่นที่อื่นๆ คือเมื่อชุมชนบอกว่าก่อนมีโรงไฟฟ้าไม่เจ็บไม่ป่วย เมื่อมีโรงไฟฟ้าเขาจึงเป็นภูมิแพ้ทำให้ชุมชนถูกเรียกร้องให้พิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่และเป็นเรื่องยากที่จะทำการพิสูจน์
แต่ถ้าหากถามว่าชุมชนที่สุรินทร์ได้เรียนรู้อะไรจากกระบวนการเอชไอเอชุมชน วิจิตราสะท้อนภาพประสบการณ์ของที่นี่คือชุมชนได้เรียนรู้ได้เห็นภาพรวม เช่นทั้งจังหวัดสุรินทร์จะมีโรงไฟฟ้าทั้งชีวมวล แสงอาทิตย์ และพลังงานอื่นๆ เป็น 10 โรง จะเกิดขึ้นทั่วประเทศ ในขณะที่ข้อมูลศักยภาพชีวมวลของจังหวัดสุรินทร์ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้และความเปลี่ยนแปลงด้านลบที่เกิดขึ้นกับชุมชนของพวกเขาและเพื่อน จากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีเพียง 3 โรง ก็ยังแก้กันไม่ลุล่วง ทำให้พวกเขาเห็นภาพและตั้งคำถามว่าหากปล่อยให้โรงไฟฟ้าเติบโตอย่างไร้ทิศทางอนาคตจังหวัดสุรินทร์จะเป็นเช่นไร
เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมรับรู้ข้อมูล ระหว่างทางของการทำเอชไอเอชุมชนคณะทำงานก็ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมมาโดยตลอด เช่นนำข้อมูลจากการศึกษาเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการจัดทำแผนพลังงานระดับจังหวัด จัดเวทีติดตามเรื่องร้องเรียนและการเฝ้าระวังโดยชุมชนมีการจดบันทึกการได้รับผลกระทบรายวัน ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หากจะให้ภาพบรรยากาศของการทำเอชไอเอที่นี่คงต้องบอกว่าเป็นบรรยากาศแบบ “คุยกันได้” ในหลายเวทีจะพบตัวแทนของโรงไฟฟ้าเข้าร่วมเวทีบ่อยครั้งและชุมชนสามารถเสนอปัญหาและมาตรการให้โรงไฟฟ้าเยียวและแก้ไข รวมถึงเข้าสามารถเข้าไปศึกษาดูงานภายในโรงไฟฟ้าได้ด้วย
แต่ปัญหาของโรงไฟฟ้าชีวมวลจุดแก้ไม่ใช่ที่รายโรงแต่เป็นการแก้ระดับนโยบายเพราะหลายพื้นที่ชุมชนไม่ต้องการโรงไฟฟ้าชีวมวลเพราะเข้าไปตั้งใจกลางหรือไม่ก็ใกล้ชุมชนนั่นสะท้อนว่าการเลือกพื้นที่ไม่เหมาะสม โดยนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ส่งเสริมพลังงานทางเลือกของรัฐบาล แต่เกิดปัญหาในการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติในหลายจุด เช่น โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตที่ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ทำให้ไม่ต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ซึ่งจากช่องว่างทางกฏหมายนี้ทำให้ขาดการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่เช่น บางพื้นที่อาจจะไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้า และในบางพื้นที่เกิดผลกระทบขึ้นแล้วเช่น ผลกระทบจากฝุ่นขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาแกลบที่ใช้วัตถุดิบ กลิ่นเหม็นจากเผาชานอ้อยซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิง ควัน อุบัติเหตุจากการขนส่งวัตถุดิบ ทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลจากทางเลือกกลับกลายเป็นภาพหลอนและปัญหาของหลายพื้นที่ ทำให้ทั้งชุมชนในจังหวัดสุรินทร์และชุมชนทั่วประเทศรวมตัวกันหลวมๆ เป็นเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงนักวิชาการที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาประเด็นเสนอเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 โดยคณะทำงานพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี 2555 วันที่ 18-20 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้นเองที่ประชุมสมัชชาฯ เห็นชอบมติการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล
23 พฤษภาคม 2556 จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 เรื่อง “การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล” ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพ โดยมีสาระสำคัญได้แก่ จัดทำแผนพัฒนาพลังงานและแผนแม่บทพลังงานชีวมวลของแต่ละจังหวัด จัดทำข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล กำหนดที่ตั้งและระยะห่างที่ชัดเจนและเหมาะสม ห้ามใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล พัฒนาคู่มือและแนวทางการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เผยแพร่และสร้างความเข้าใจในการศึกษาข้อมูล และการมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในระดับชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) ทั้งก่อนการอนุญาต การติดตามตรวจสอบ และการเฝ้าระวัง ให้การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535หมวดกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ฝ่ายสังคมและกฎหมาย) ครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ประธานกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ฝ่ายสังคมและกฎหมาย) เสนอ แต่ยกเว้นประเด็นการห้ามใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล และประเด็นการให้กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศให้โรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยให้กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาในประเด็นดังกล่าวว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่เพียงใด หรือมีแนวทางใดที่เหมาะสม และนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป