เสวนาวิชาการ“การฟื้นฟูชีวิตและลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว: สถานการณ์ปัจจุบันและบทเรียนจากต่างประเทศ สู่การจัดการที่เหมาะสมกับประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน”
วันที่ 24-25 กรกฎาคม 2557 สถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หน่วยวิจัยเชิงบูรณาการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม บริษัท TESC ไต้หวัน จัดเสวนาวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กฎหมาย และสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หัวข้อ “การฟื้นฟูชีวิตและลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว: สถานการณ์ปัจจุบันและบทเรียนจากต่างประเทศ สู่การจัดการที่เหมาะสมกับประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน” ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก
กรณีการลักลอบปล่อยหางแร่ปนเปื้อนสารตะกั่วลงลำห้วยคลิตี้ทำให้เกิดการปนเปื้อนในลำห้วยยาวกว่า 19 กิโลเมตร เป็นกรณีการปนเปื้อนสารอันตรายในระบบนิเวศที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของชุมชนกระเหรี่ยงที่เป็นที่รับรู้ของสังคมไทยมานานกว่า 16 ปี ในปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษได้รับมอบหมายจากศาลปกครองให้ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยให้กลับมาใช้งานได้โดยปลอดภัยต่อชุมชนอีกครั้ง และกำลังอยู่ในขั้นการดำเนินการฟื้นฟูให้เสร็จสิ้นใน 3 ปี อย่างไรก็ดีนอกจากการฟื้นฟูการปนเปื้อนแล้วการฟื้นคืนวิถีชีวิตชุมชนของชาวคลิตี้ล่างที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารตะกั่วก็สำคัญไม่แพ้กัน งานวิจัยสหสาขาวิชาด้านการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตราย กฎหมายสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนจึงเป็นงานวิจัยที่สำคัญต่อการแก้ปัญหากรณีคลิตี้ อันเป็นกรณีตัวอย่างการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนกรณีแรกของประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านงานวิจัยและการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนในภาคสนามระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่มีประสบการณ์ในการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนมาก่อนหน้าอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา และ ประเทศไต้หวัน จึงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาทางวิชาการและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการจัดการลำห้วย และตะกอนท้องน้ำปนเปื้อนสารอันตรายอย่างเหมาะสมกับประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน อันเป็นโจทย์ที่ท้าทายการทำงานในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ หลายหน่วยงานจึดร่วมกันจัดเวทีเสวนาสหสาขาวิชาการดังกล่าว เพื่อสร้างโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลทางวิชาการ ระหว่างภาคส่วนต่างๆที่ร่วมกันฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และวิถีชีวิตของชุมชน อันจะนำมาสู่การทำงานวิจัยร่วมกันในเชิงปฏิบัติเพื่อนำมาสู่ความสำเร็จในการแก้ไขกรณีปนเปื้อนที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน
โดยมีวัตถุประสงค์หลัก
(1) เพื่อสร้างเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลวิชาการและประสบการณ์การวิจัยในด้าน การฟื้นฟูลำห้วยและตะกอนท้องน้ำปนเปื้อนสารอันตรายจากประสบการณ์ของประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และไทย
(2) เพื่อก่อให้เกิดการบูรณาการงานวิจัย รวมทั้งการต่อยอดองค์ความรู้เพื่อเป็นแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการจัดการในพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายอย่างเหมาะสมกับประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน
(3) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด แนวทางและประสบการณ์การทำงานด้านการฟื้นฟูชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตราย ระหว่าง ไทยและนานาประเทศ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก โครงการเสวนาวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กฏหมาย และสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน http://web.eng.nu.ac.th/eng2012/AEC-Program/index.html
>>Click ที่ภาพเพื่อดาวโหลดกำหนดการ<<