พรุ่งนี้ ลุ้นผลพิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขอเปลี่ยนเป็นถ่านหินที่เขาหินซ้อน ด้านกลุ่มเกษตรอินทรีย์ สนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา ขอฟังผลหน้าห้อง หวั่นเกษตรพังทั้งระบบ


HIA in Thailand – พรุ่งนี้ ลุ้นผลพิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขอเปลี่ยนเป็นถ่านหินที่เขาหินซ้อน ด้านกลุ่มเกษตรอินทรีย์ สนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา ขอฟังผลหน้าห้อง หวั่นเกษตรพังทั้งระบบ






 พรุ่งนี้!! ลุ้นผลพิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขอเปลี่ยนเป็นถ่านหินที่เขาหินซ้อน ด้านกลุ่มเกษตรอินทรีย์ สนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา ขอฟังผลหน้าห้อง หวั่นเกษตรพังทั้งระบบ

 

             

              พรุ่งนี้ (31 กรกฎาคม 2557) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) จะมีการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 3 จำกัด ที่ยื่นขอเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากชีวมวลเป็นถ่านหินเป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่ คชก. เคยมีมติไม่เห็นชอบมาแล้วตลอด 3 ปีที่ผ่านมา การพิจารณาของ คชก.
             โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 3 จำกัด นี้ เป็นโรงไฟฟ้าในเครือของบริษัทผลิตกระดาษชื่อดังคือดับเบิ้ลเอ มีขนาด 47.4 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการโดยใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง แต่บริษัทได้ยื่นอีไอเอขอเปลี่ยนเชื้อเพลิงมาใช้ถ่านหิน ถึง 2 ครั้ง ซึ่ง คชก.มีมติไม่เห็นชอบทั้ง 2 ครั้ง และบริษัทได้ยื่นอีไอเอ เป็นครั้งที่ 3 เมื่อ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่ง คชก.จะพิจารณาในวันพรุ่งนี้ 

             ขณะที่นางยุพิน คะเสนา ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า พื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ อยู่ในรัศมีที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้านี้ ซึ่งข้อมูลการศึกษาของชาวบ้านที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พบว่าอาจจะได้รับผลกระทบด้วย จนเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้ คชก.พิจารณาไม่เห็นชอบในอีไอเอรอบที่ผ่านมา แต่จนบัดนี้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆจากบริษัท และไม่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมใดๆ ในการประเมินผลกระทบของบริษัท จนกระทั่งบริษัทยื่นอีไอเอในรอบนี้ และทางกลุ่มเพิ่งทราบข่าวว่าจะมีการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ ดังนั้น กลุ่มและชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านที่อยู่รอบๆโครงการโรงไฟฟ้านี้ ได้ยื่นเรื่องไปยัง คชก. เพื่อขอเข้าร่วมประชุมพิจารณา และเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้การพิจารณาของ คชก.รอบคอบยิ่งขึ้น

             “ดิฉัน ขอวิงวอนให้ คชก.ทุกท่าน โปรดใส่ใจกับการมีส่วนร่วมในการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารดีมีคุณภาพให้กับสังคมไทย กว่าที่ชาวบ้านจะรวมกลุ่มในการทำเกษตรอินทรีย์มาได้จนเข้มแข็งได้อย่างทุกวันนี้ ต้องใช้เวลากว่า 30 ปี ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา มาอย่างนับไม่ถ้วน จนกระทั่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากกลุ่ม ได้รับมาตรฐานสากล จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) และสหภาพยุโรป(อียู) สมาชิกของกลุ่ม สามารถมีรายได้อยู่อย่างมีความสุข ครอบครัวไม่ต้องแตกแยกอยู่ห่างไกลกัน และที่สำคัญสมาชิกทุกคนมีสุขภาพที่ดี ซึ่งใช้งบประมาณของรัฐไม่มากในแต่ละปี ในการดูแลสุขภาพของสมาชิก ทั้งหมดนี้ ชาวบ้านต้องฝ่าฟันมาด้วยตนเอง แต่จะต้องมาสิ้นลงในเวลาไม่กี่ปี หากโรงไฟฟ้านี้ ได้รับความเห็นชอบให้เปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นถ่านหิน”

             “พรุ่งนี้ ดิฉันและพี่น้องอย่างน้อย 50 คน จะไปรออยู่หน้าห้องประชุมของ คชก. ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซอยพิบูลวัฒนา 7 ถนนพระรามที่ 6 พญาไท กรุงเทพมหานคร เพื่อขอการมีส่วนร่วมในการพิจารณาอีไอเอในครั้งนี้ และจะพิสูจน์ว่า คชก. จะมอบความสุขหรือความทุกข์ให้กับประชาชนกันแน่”

             เอกสารคิดอย่างไรหากชีวมวลจะเปลี่ยนเป็นถ่านหิน จัดทำโดยศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คณะวิจัยชุมชนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทราและคณะ พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2555 ระบุว่าตั้งแต่ พ.ศ.2552-2552 พบว่ามีการล้มสวนมะม่วงของเกษตรกรชาวสวนมะม่วง 36 ราย จาก 5 หมู่บ้าน คือ บ้านกระบกเตี้ย บ้านดอนขี้เหล็ก บ้านหนองแหน บ้านหนองล้างหน้า บ้านห้วยสาม ซึ่งตั้งอยู่ใน 2 อำเภอ คือ อำเภอสนามชัยเขต อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยล้มสวนไปแล้ว 515 ไร่ เหลือ 1,702 ไร่ คิดเป็น 23.23% 

             โดยข้อมูลลำดับเหตุการณ์ของโครงการนี้จากเอกสารดังกล่าวและจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ สนามชัยเขต มีดังนี้

พ.ศ. 2539 : ผ่านการพิจารณา EIA และได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
พ.ศ. 2542 : ลงนามกับ กฟภ. ผลิตและขายไฟเข้าสู่ระบบ
พ.ศ. 2543 : ขอยกเลิกการติดตั้งระบบตรวจวัดการระบายทิ้งอากาศเสียอย่างต่อเนื่อง แต่ คชก. มีมติไม่เห็นชอบ
พ.ศ. 2546 : ขอนำน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วที่ปรับคุณภาพมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตา แต่เมื่อ สผ. ประสานขอรายละเอียดจากบริษัทฯ แต่ไม่ได้มีการส่งเอกสารไปให้ สผ.
ต้นปี 2555 : บริษัทฯ ยื่น EIA ขอเปลี่ยนเชื้อเพลิงมาใช้ถ่านหินร่วม ครั้งที่ 1
17 กุมภาพันธ์ 2555 : มีการนัดประชุม คชก. ครั้งที่ 1 แต่ยกเลิกไปในวันเดียวกัน โดยชาวบ้านเดินทางไปยื่นเรื่องคัดค้านและขอให้ลงพื้นที่
1 มีนาคม 2555 ประชุม คชก. ครั้งที่ 1 โดย คชก. มีมติไม่เห็นชอบ
31 มีนาคม 2555 : คชก. ลงพื้นที่ตามที่ชาวบ้านร้องขอ
ธันวาคม 2555 : บริษัทฯ ยื่น EIA ขอเปลี่ยนเชื้อเพลิงมาใช้ถ่านหินร่วม ครั้งที่ 2
27 ธันวาคม 2555 : ประชุม คชก. ครั้งที่ 2 คชก. มีมติไม่เห็นชอบ
3 กรกฎาคม 2557 : บริษัทฯ ยื่น EIA ขอเปลี่ยนเชื้อเพลิงมาใช้ถ่านหินร่วม ครั้งที่ 3
31 กรกฎาคม 2557–นัดประชุม คชก. ครั้งที่ 3

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ยุพิน คะเสนา 087 019 8960