สผ. เตรียมเสนอแผนคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแม่ตาวต่อ กก.วล. คาดเสร็จต้นปีหน้า ด้านนวก. แนะทำเอชไอเอแผนฯ เชื่อม สป.สช. ตั้งงบรักษาผู้ป่วย
วันนี้ (30 กันยายน 2557) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช. เจาะประเด็นครั้งที่ 4/2557 “สานพลัง สร้างสุขภาวะ สู่เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแม่ตาว ณ ร้าน Reflection Again ซอยอารีย์ 3 ถ.พหลโยธิน โดยมีตัวแทนชุมชนแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก สำนักงานนโยบายและแผนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมเวที
นายวีรนิต ฐานสุพร ผู้อำนวยการกลุ่มงานพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สผ.จัดทำแผนการกำหนดพื้นที่และมาตรการคุ้มครองในบริเวณพื้นที่ ต.พระธาตุผาแดง ต.แม่ตาว และ ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ตามคำสั่งศาลปกครองกลางพิษณุโลก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2556 ที่ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตาม ม.43 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 โดยปัจจุบันยังคงเป็นร่างแผนฯ และผ่านการรับฟังความเห็นมาหลายครั้ง โดยล่าสุดจัดเวทีประชาคมรวมไปเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในธันวาคม 2557 และเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (กก.วล.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อออกเป็นกฎกระทรวงและพิจารณาสั่งการต่อไป
นายวีรนิตกล่าวต่อว่า กรณีแม่ตาวเป็นกรณีแรกที่ประกาศเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนในดิน น้ำและสิ่งแวดล้อม โดยการออกประกาศนี้เป็นกลไกทางกฎหมายมีบทบังคับและลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม และต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมทั้งของประชาชนและนักวิชาการเนื่องจากการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยม ต้องใช้การศึกษาทางวิชาการร่วมด้วยเพื่อจัดทำมาตรการที่เหมาะสม โดยปัจจุบันได้ขอบเขตการประกาศแล้วคือเขตการปกครองทั้ง 3 ตำบล และมีมาตรการสำคัญเช่นในพื้นที่ศักยภาพแร่สังกะสีที่มีแคดเมี่ยมเป็นเพื่อนแร่ ในอนาคตอาจจะห้ามทำเหมืองแร่ ปลูกพืชคลุมดินเพื่อดูดซับแคดเมี่ยม
ในบริเวณ 1.5 กม. จากริมห้วยแม่ตาว และ 1 กม. จากริมห้วยแม่กุ เป็นบริเวณที่ชาวบ้านปลูกข้าว ทำการเกษตร และมีการปนเปื้อนของแคดเมียมในดินจะเน้นมาตรการฟื้นฟูดิน โดยจะมีแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และการบริหารจัดการพื้นที่ และในอนาคตอาจจะเป็นที่อยู่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด และมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กในพื้นที่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการติดตามประกาศฯ โดยอาจจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและมีตัวแทนของชุมชนเข้าร่วมเพื่อติดตามการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว
นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่ากรณีการมีแผนคุ้มครองสิ่งแวดล้อมนี้เป็นมิติใหม่เพราะแทนที่จะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแต่ให้เป็นคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เมื่อมองหลายมุมจะพบว่าในอนาคตแม่สอดกำลังจะเปลี่ยนไป กำลังจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทำให้ยิ่งเหมาะกับมาตรการนี้เพราะไม่ใช่เพียงการปนเปื้อนแต่เป็นภาพอนาคตของที่นี่ เพราะการทำแผนเป็นการทำถึงอนาคตและเป็นหัวใจและโอกาสในการที่ สช. จะสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกับ สผ. ทำการประเมินผลกระทบของแผนว่ามีกี่แบบ กี่ทางเลือกและจะกระทบต่อสุขภาวะคนในพื้นที่นี้และรอบข้างอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังพบบทเรียนคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคราชการซึ่งกันและกัน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อสำรวจพบแหล่งแร่ในพื้นที่ต่างๆ อาจจะต้องเชื่อมข้อมูลไปยังกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่อาจจะเกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวังหรือหามาตรการรองรับด้านสุขภาพหรือด้านอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้เสนอให้เพิ่มการปะสานงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สป.สช.) เพื่อจัดสรรงบประมาณให้กับผู้ป่วยหรือการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพในพื้นที่แม่สอดด้วย
นอกจากนี้ขอหยิบยกเรื่องการประเมินผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ใน 3 ประเด็นคือ 1. กระบวนการการประเมินผลกระทบเป็นกระบวนการพิจารณาก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา กรณีแม่ตาวเข้าใจว่าไม่ได้คิดถึงการปนเปื้อนแคดเมี่ยมมาก่อน ทำให้เมื่อเกิดปัญหาหลายหน่วยงานไม่เข้าใจและสับสน ปัญหาเช่นนี้พบทั่วโลกเช่นกรณีของการปนเปื้อนสารหนูในประเทศบังคลาเทศ การปนเปื้อนสารหนูในตะกอนเขาหิมาลัยที่ละลายลงมาในประเทศเนปาล และพบว่านักวิชาการประเทศญี่ปุ่นมีการเรียนรู้เรื่องนี้มาก เรื่องนี้เป็นประเด็นของนักวิชาการและต่อไปการทำ EIA EHIA ควรนำเรื่องนี้เข้าไปผนวกด้วย
2. การทำ HIA EIA EHIA จะต้องมีมาตรการเยียวยาขอให้เพิ่มยุทธศาสตร์การเยียวยาในระบบสาธารณสุขโดยให้ สช. ประสาน สป.สช. เพื่อตั้งงบประมาณเฉพาะและถ้าเป็นพื้นที่ปนเปื้อนต้องลงทุนเรื่องเฝ้าระวัง รักษาไตเทียม รักษาเรื่องต่างๆ เพราะถ้าให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการแต่เขาไม่ได้เป็นผู้ควบคุมงบประมาณแผนนี้จะเป็นไม่เกิดผลจริงและเป็นการแก้ไขเยียวยาในระยะยาวด้วย
3. สช. ควรสนับสนุนให้มีการทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ของแผนนี้ ว่าจะมีทางเลือกกี่ทางและจะเกิดผลกระทบจากการแผนอย่างไรบ้าง รวมถึงมาตรการที่จะไปกระทบคนในพื้นที่ การทำการกำหนดขอบเขตตามมาตรการการประเมินผลกระทบ ( HIA Scoping) ของมิติพื้นที่และความขัดแย้งความเป็นอยู่ในพื้นที่ จะต้องทำให้ดีไม่ใช่เพียงการจัดการประชุมแต่ต้องคำนึงถึงรูปแบบวิธีการเพื่อการพุดคุยวิเคราะห์ปัญหาไม่เช่นนั้นจะเกิดการปะทะขัดแย้งในพื้นที่ได้
ด้านนายญาณพัตน์ ไพรมีทรัพย์ ตัวแทนชุมชนลุ่มน้ำแม่ตาว จ.ตาก กล่าวว่าชุมชนอยากให้แคดเมี่ยมหมดไปจากพื้นที่ หรืออยู่ในระดับที่ปลอดภัยและให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ปัจจุบันชุมชนรู้สึกคุ้นชินกับแคดเมี่ยมซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ในอนาคตอาจจะต้องทำการสื่อสารเรื่องนี้ให้ชุมชนตระหนักมากขึ้น บทเรียนของพื้นที่นี้พบว่าขาดฐานข้อมูลที่ต่อเนื่องเข้าไม่ถึงข้อมูลบางเรื่อง มีการเข้าไปทำงานวิจัยหลายชิ้นแต่ไม่ตอบโจทย์เรื่องชีวิตปลอดภัยและไม่เกิดการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนไม่เกิดการแก้ไขที่สอดคล้องทั้งกับวิถีชีวิต ยังไม่มีการนำแคดเมี่ยมออกจากดินแต่มีการส่งเสริมการปลูกยางพาราซึ่งไม่เหมาะกับพื้นที่เพราะน้ำใต้ดินตื้น รากยางไม่โต และปัจจุบันราคาข้าวดีขึ้นทำให้ชาวบ้านกลับมาปลูกข้าวอีกครั้งและการปลูกข้าวทำนาทำให้มีอาหารอย่างอื่นกลับมาอีกด้วย และยังคงมีผู้ป่วยโรคไตและไม่มีการรักษาที่เป็นระบบ