สช.-มนส. เดินหน้ารับฟังความเห็นร่างหลักเกณฑ์ HIA ตาม พรบ.สุขภาพ ฉบับที่ 2

             สช.-มนส. เดินหน้ารับฟังความเห็นร่างหลักเกณฑ์ HIA ตาม พรบ.สุขภาพ ฉบับที่ 2

                 เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ มูลนิธินโยบายสุขภาพวะ (มนส.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อยกร่างหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบสุขภาพตามมาตรา 25(5) ของ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ โดยมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมเช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กรมการขนส่งทางบก มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากประชาคมจังหวัดเลย ตัวแทนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี เป็นต้น

 
                 ดร.เดชรัต สุขกำเนิด จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ (มนส.) นำเสนอผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การออกแบบระบบ กระบวนการ และหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) เพื่อการขับเคลื่อนสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญใหม่” เมื่อวันที่ 13-14 กันยายน 2557 ณ ห้องลีลาวดี โรงแรมรามาการ์เด้นท์            ถ. วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ว่าหลักเกณฑ์เอชไอเอเล่มปัจจุบันถูกยกร่างภายใต้ฐานคิดจาก ม. 67 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งในช่วงนั้นก็จะมีหลักเกณฑ์ของ สผ. ประกาศตามออกมาจากฐานของ ม. 67 เช่นเดียวกัน แต่ในร่างหลักเกณฑ์ฉบับนี้ จะเน้นหลักการทำ HIA ในระดับของนโยบาย/แผนงาน(ทั้งที่มีแผนชัดเจน และไม่ชัดเจน) และในระดับโครงการ แบบที่ไม่ได้กำหนดไว้ในกฏหมายว่าต้องทำ คือทำ HIA นอกเหนือจาก EIA/ EHIA ส่วนการทำ HIA แบบที่มีกฏหมายระบุชัด ซึ่งก็คือ EIA/EHIA จะทำเป็นข้อเสนอเพื่อส่งต่อให้ สผ. ใช้ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของ สผ. ต่อไป

              ในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ผ่านมาครั้งที่แล้วมีสิ่งที่ให้ความสำคัญร่วมกันคือ “หลักการที่จะมีหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” ซึ่งหลักการที่ได้จากการระดมความเห็นที่ผ่านมาคือ “ทำก่อน ทำจริง ทำด้วยกัน และทำอย่างยั่งยืน” ถ้าเข้าใจหลักการไม่ตรงกันแล้วดูเฉพาะหลักเกณฑ์ที่เป็นตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว ต้องเริ่มต้นจากหลักการที่เข้าใจตรงกัน

                 ที่ผ่านมาสิ่งที่คนพูดถึงในกรณีการทำ HIA คือเป็นเรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย พิธีกรรม เป็นสัญลักษณ์การรักษาสิทธิชุมชน ขยายผลการทำ HIA ไปสู่ชุมชน เป็น Community Base HIA เช่นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่พบกับผลกระทบจากโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ และชุมชนท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับผลกระจากโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึก บริษัทเชฟรอน จำกัด 

                 สำหรับหลักการ HIA ที่มุ่งหวังให้เป็น ทำก่อน ทำจริง ทำด้วยกัน ทำยั่งยืน สามารถขยายความได้ว่า 

                 “ทำก่อน” ในอดีตเมื่อกล่าวถึง EIA HIA เขาก็มีการคิดก่อนทำและจะตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรไม่ให้เขาต้องรอ ต่อไปอาจจะต้องมีเวทีและโอกาสเพื่อหาประเด็นเหล่านี้ อาจเป็นการทำ HIA เชิงรุก (Proactive) ไม่ต้องรอการใช้สิทธิ์ตาม ม.11 พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 แต่เป็นเวทีคล้ายเวทีรับฟังความเห็นเช่นนี้ อาจเป็นเวทีรายเดือนในแต่ละพื้นที่ และเวทีเหล่านี้จะทำให้เกิด เวทีรายเดือน เพื่อนำเสนอประเด็น ต่อมาเป็น เวทีก่อขบวน เพื่อชวนผู้กำหนดนโยบาย เจ้าของโครงการ หน่วยงานในชุมชน หน่วยงานท้องถิ่นและออกแบบการประเมินผลกระทบร่วมกัน และคาดการณ์ล่วงหน้า และวางกรอบเวลาให้สอดคล้องกับการตัดสินใจเชิงนโยบาย 

                 “ทำจริงจัง” จะทำจริงจังได้ต่อเมื่อเข้าใจและทันต่อการตัดสินใจ เพราะถ้าหากทำเมื่อไม่ทันเวลาก็จะสามารถทำได้อย่างจำกัด จึงควรทำ HIA เพื่อเชื่อมเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ โดยทำได้ทั้งก่อนทำดำเนินนโยบาย แผนงาน โครงการ และระหว่างทำดำเนินนโยบาย แผนงาน โครงการ หลังดำเนินนโยบาย แผนงาน โครงการ เพื่อแก้ไขปรับปรุงนโยบายที่อาจะเกิดขึ้นในอนาคต

                 “ทำด้วยกัน” เป็นหัวใจของการทำงานและที่ผ่านมาเป็นการทำงานแยกกัน เช่น การทำรายงานเอชไอเอชุมชน หรือ Community Health Impact Assessment : CHIA ที่ผ่านมา และเป็นการทำชนกันในเวที ในเบื้องต้นการชนกันดีกว่าการทำฝ่ายเดียวเพราะเป็นการเอาข้อมูลมาเทียบกัน แต่จะดีกว่าถ้าเป็นการทำร่วมกัน ดังนั้นทุกฝ่ายจึงควรมีบทบาทในการประเมินผลกระทบร่วมกันใน 3 ขั้นตอนสำคัญคือ

                 1. การกำกับทิศทางกาประเมิน โดยจะมีคณะกรรมการกำกับทิศทางการประเมินที่มาจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผู้กำหนดนโยบาย คนในชุมชน ท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่ตั้งแต่กำหนดขอบเขตกาประเมิน พิจารณาทางเลือก จัดรับฟังความเห็น การคัดเลือกผู้ประเมินผล ตรวจสอบร่างรายงานผลกระทบทางสุขภาพ กรอบระยะเวลาเป็นต้น

                 2. การประเมินหรือวิเคราะห์ผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งอาจมาจากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ปราชญ์ชุมชน สถาบันต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นฉันทามติจากคณะกรรมการกำกับทิศการประเมิน โดยจะใช้เครื่องมือที่หลากหลายเพื่อให้ได้แง่มุมของผลกระทบให้ครบถ้วนมากที่สุด ทั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์และข้อมูลชุมชน

                 3. ตรวจสอบและทบทวนร่างรายงานฯ โดยคณะกรรมการกำกับทิศทางการประเมินจะพิจารณาหารูปแบบและกระบวนการพิจารณา ตรวจสอบ และทบทวนร่างรายงานที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายนำมาสู่การทบทวนรายงาน ยุติการประเมินผลกระทบ หรือปรับปรุงร่างรายงานให้สมบูรณ์ต่อไป

                 “ทำยั่งยืน” เพื่อให้เกิดเป้าหมายสูงสุดคือสร้างผลดีต่อสุขภาพประชาชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยกาประเมินกระทบทางสุขภาพจะต้องให้ความสำคัญกับการพิจารณาทางเลือกในระดับนโยบาย แผนงาน โครงการที่หลากหลายตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ เทคโนโลยี ขนาดและพื้นที่โครงการ โดยคณะกรรมการกำกับทิศทางต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเสนอทางเลือกทั้งระดับนโยบาย โครงการ แผนงาน ตั้งแต่ก่อนหรือในขั้นตอนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และให้ความสำคัญกับบริบทวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ปัจจัยกำหนดสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงทำความเข้าใจและเคารพความมุ่งหวังและทิศทางการพัฒนาที่ประชาชนในพื้นที่กำหนดขึ้น โดยต้องแสดงว่าทางเลือกนั้นๆ จะส่งผลกระทบด้านบวกและลบเช่นไร เพื่อประกอบการให้ความเห็นและการตัดสินใจของประชาชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ

                 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ร่างหลักเกณฑ์และแนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ)

                 นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนและเสนอแนะความเห็นในอีกหลายประเด็น เช่น การทำด้วยกันเป็นไปได้จริงหรือไม่เพียงใด เพิ่มกลไกการสนับสนุนของ สช. ที่จะมาเป็นกลไกขับเคลื่อนหลักเกณฑ์นี้ได้อย่างไร เพื่อสร้างให้ 2 ส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกันได้ เพราะว่าปัจจุบัน ชุมชนมีเป้าหมายหนึ่ง เอกชนเป้าหมายหนึ่ง เป้าหมายยังไม่ตรงกัน สช. มีเวทีก่อนการก่อขบวน สมัชชาภาค สมัชชาสุขภาพจังหวัด หนุนเสริมให้ชุมชนให้เข้ามาสู่กระบวนการปกติได้ และเมื่อชุมชนทำข้อมูลและแต่ยังขาดกลไกที่ข้อมูลชุมชนเข้าไปมีส่วนพบกับข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันเห็นว่ากลไกของ สช. จะเป็นกลไกที่มาเสริมหนุนได้ดี ควรมีมาตรการการรับผิดของสถานประกอบการที่ไม่ทำตามมาตรการลดผลกระทบ นอกจากการไม่ต่อใบอนุญาต ควรบรรจุเรื่อง HIA เข้าไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย

                 โดยหลังจากนี้ร่างหลักเกณฑ์ฯ จะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA Commission หากคณะกรรมการได้ให้ข้อแนะนำก็อาจจะมีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ปัจจุบันหากใครยังมีความคิดเห็นเพิ่มเติม หรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสามารถส่งมาได้ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ตามที่อยู่ดังต่อไปนี้ ชั้นน 3 อาคารสุขภาพแห่งชาติ 88/39 ม.4 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 1100 โทรศัพท์ 02-832-9082

 

 >>กดที่รูปเพื่อดาวโหลดไฟล์นำเสนอและร่างหลักเกณฑ์ HIA<<