ความท้าทายใหม่ของภาคสาธารณสุขในยุคโลกไร้พรมแดน
ความท้าทายใหม่ของภาคสาธารณสุขในยุคโลกไร้พรมแดน
เรื่องและภาพ ขนิษฐา แซ่เอี้ยว เขมวไล ธีรสุวรรณจักร
เมื่อวันที่ 6-7 พฤศจิกายนที่ผ่านมาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติสาธารณสุขศาสตร์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “Health Service System in a Borderless Community” (6th International Conference on Public Health among the Great Mekong Sub-Regional Countries : “Health Service System in a Borderless Community”) ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออร์คิด จ.ขอนแก่น
ผศ.ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศลุ่มน้ำโขงของเรานั้นอยู่ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงและซับซ้อน เผชิญกับความท้าทายในการที่จะสร้างสุขภาวะที่ดี ไม่ว่าจะมาจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 (AEC 2015) สถานการณ์การเคลื่อนย้ายของแรงงาน จึงควรเตรียมพร้อมเพื่อการทำงานร่วมกันในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อรองรับสถานการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขร่วมกัน ระบบบริการด้านสุขภาพ โครงสร้างองค์กรที่มีความเหมาะสมและรองรับกับการดูแลสุขภาพกับประชาชนที่มีความหลากหลาย”
ภายในการประชุม นพ.วิพุธ นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) ได้กล่าวในที่ประชุมสภาคณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยในอาเซียน โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการที่ต้องบรรจุเรื่องของการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเข้าในการเรียนในสายสาธารณสุขศาสตร์ “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือหรือเทคนิคในการประเมินผลกระทบอย่างหนึ่งเท่านั้น หากเป็นกระบวนการให้ได้มาซึ่งข้อมูล ทางเลือกอันจะนำไปสู่การตัดสินใจ เป็นการคาดการณ์อนาคตที่สืบเนื่องจากกระบวนการตัดสินใจ ยิ่งในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในด้านสาธารณสุข ทั้งในเรื่องของโรคในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป การเคลื่อนย้ายของแรงงานและนักท่องเที่ยวข้ามพรมแดน การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จึงเป็นสิ่งที่จะมาหนุนเสริมการทำงานในด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นภายใต้บริบทสังคมเช่นนี้”
ภายหลังจากการประชุมร่วมกัน สภาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งประเทศไทย จึงได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อศึกษาหาความเป็นไปได้ และร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) รวมถึงความร่วมมือทางด้านวิชาการ งานวิจัยอื่นๆ โดยในที่นี้อาจจะมีการทำวิจัยร่วมกันก่อนที่จะนำมาวางกรอบการทำงานและพัฒนาต่อยอดเป็นหลักสูตรต่อไป
นอกจากนี้ในการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ได้มีการจัดการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “Development of HIA in Thailand : Past, Present and Future” ที่ถอดบทเรียนจากการทำงานด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในประเทศไทยจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรมอนามัย สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งแต่ละภาคส่วนได้มีการนำเอา HIA ไปใช้ในหลายระดับที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับโครงการไปจนถึงระดับนโยบาย และอภิปรายร่วมกันให้เห็นถึงความจำเป็นของการนำเอาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพมาใช้ในสังคมไทย ซึ่งการเสวนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก
ผศ.ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการเรียนการสอนสาธารณสุขศาสตร์ และบุคลากรในแวดวงสาธารณสุข เนื่องจากเป็นเครื่องมือและกลไกที่จะช่วงสร้างความร่วมมือ และป้องป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ จะได้มีการบรรจุวาระเรื่องของการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเข้าในการประชุมครั้งหน้า”
สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติสาธารณสุขศาสตร์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงครั้งหน้า จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 โดยมีประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ ภายใต้หัวข้อ ความร่วมมือในระดับนานาชาติด้านการวิจัยและฝึกอบรมสาธารณสุขในกระบวนการสร้างนโยบายเพื่อสุขภาพที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์