คมส. เดินหน้ามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “ลดผลกระทบโรงไฟฟ้าขีวมวล”

 คมส. เดินหน้ามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “ลดผลกระทบโรงไฟฟ้าขีวมวล”
ด้านชุมชนร้องผลกระทบยังอยู่ เสนอใช้ข้อมูลชุมชนทำแผนพลังงานจังหวัด

                 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 5.2 เรื่องการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจัดขึ้นในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 ณ อิมแพคฟอรั่ม จ.นนทบุรี นั้น ที่ประชุมพบว่าปัจจุบันกระทรวงพลังงานกำลังศึกษาและจัดทำแผนพลังงานระดับจังหวัด โดยมีจังหวัดนำร่องทั้งสิ้น 38 จังหวัด กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ และสูงกว่า 10 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาออกประกาศกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2558

                 ส่วนกรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาเกณฑ์เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงหารือร่วมกันกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กรมพลังงานทดแทน เพื่อพิจารณาหาที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยปัจจุบันใช้การพิจารณาอิงเกณฑ์บัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม ลำดับที่ 88 เรื่องโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ในขณะที่แผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (พ.ศ. 2551 – 2565) กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนไว้ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ และหากมีกำลังการผลิตในภาพรวมครบแล้ว จะไม่ได้มีการพิจารณาศักยภาพเป็นรายจังหวัด ในขณะที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กำหนดพื้นฐานค่าการระบายมลพิษให้โรงไฟฟ้าชีวมวลทุกโรงถือปฏิบัติ และสนับสนุนเครื่องมือติดตามตรวจสอบที่ชุมชนร้องเข้ามา และมีแนวคิดจะสนับสนุนเรื่ององค์ความรู้เพื่อความยั่งยืน และใช้งบประมาณตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายและให้โรงไฟฟ้าเป็นคนจ่าย นอกจากนี้ทาง คพ. ได้จัดทำคู่มือติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังอย่างง่ายและพิมพ์แจกไปบ้างแล้ว

                 ทั้งนี้เป้าหมายของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อให้เกิดการแก้ไขระดับนโยบายที่จะช่วยลดผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมีข้อเสนอในมติทั้งสิ้น 7 ประเด็น คือ 1.จัดทำแผนแผนพลังงานจังหวัด 2. ผังเมือง 3. การกำหนดบัญชีประเภทโรงไฟฟ้า 4. เงื่อนไขพิจารณาอนุมัติอนุญาต 5. การจัดทำคู่มือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชนกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล 6. การประกาศโรงไฟฟ้าเป็นกิจการที่อันตรายต่อสุขภาพตาม พรบ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 7. การสนับสนุนการเฝ้าระวังติดตามตรวจตรวจสอบ

                 ด้านวิจิตรา ชูสกุล ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาอีสานและคณะทำงานเอชไอเอชุมชนกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.สุรินทร์ กล่าวว่าจากข้อมูลเอชไอเอชุมชนพบว่าศักยภาพการผลิตไฟฟ้าด้วยชีวมวลของจังหวัดสุรินทร์ อยู่ที่ 100 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นแล้ว 5 โรง กำลังผลิตรวม 76 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ที่ 120 เมกะวัตต์ จากข้อมูลตรงนี้จะเห็นว่าศักยภาพชีวมวลของสุรินทร์มีไม่พอกับความต้องการ และผลกระทบที่เกิดขึ้นคือเรื่องฝุ่นและน้ำ ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ยั่งยืนมีเพียงการแก้ไขเฉพาะเรื่องเช่นขุดบ่อบาดาลเพิ่ม 

                 นอกจากนี้ชุมชนคาดหวังว่าข้อมูลนี้ถูกบรรจุเข้าในการจัดทำแผนพลังงานจังหวัดรวมถึงใช้เพื่อเฝ้าระวังและติดตามทิศทางสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนในอนาคต ในขณะที่ปัจจุบันชุมชนยังไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนพลังงานระดับจังหวัดตั้งแต่ต้น และยังไม่เห็นการเชื่อมโยงข้อมูลศักยภาพและข้อมูลผลกระทบเข้าสู่การทำงานของ สกพ. ในฐานะหน่วยงานอนุญาต สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงพลังงาน (สนย.) ในฐานะหน่วยงานจัดทำแผน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านประกอบการพิจารณาว่าควรสร้างหรือไม่สร้างและเกิดการอนุมัติอนุญาตที่เป็นรูปธรรม เหมาะสมกับพื้นที่

                 ในขณะที่ศุภกิจ นันทะวรการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสุขภาวะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ (มนส.) กล่าวว่า จากข้อมูลของ สกพ. พบว่าเรื่องโรงไฟฟ้ามีความเคลื่อนไหวอย่างมากเช่นจากข้อมูลของ สกพ. พบว่ามีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่อยู่ระหว่างการทำสัญญาซื้อขายมากกว่า 100 โครงการ เป็นโรงไฟฟ้าขนาด 9.0-9.9 เมกะวัตต์ กว่า 10 โครงการ และมีโครงการขนาด 2-4 เมกะวัตต์ และต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์ เพิ่มมากขึ้น ในบางโรงมีการยื่นฟ้องร้องที่ศาลปกครอง ในขณะที่กระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญมากขึ้น เริ่มให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลทั้งข้อดีและข้อเสียมากขึ้น

                 โดยหลังจากนี้คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) จะนัดประชุมหน่วยงาน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มาร่วมทำงานขับเคลื่อนกันต่อไป