10-12 มิถุนายน นี้พบกับงานวิชชาการ ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส 9 ปี สช.
วิชชาการ “ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส 9 ปี สช.”
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กำหนดจัด ประชุมวิชชาการ “ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส 9 ปี สช.” ในระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2558 ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เพื่อนำบทเรียนจากการปฏิรูประบบสุขภาพ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ และการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในวาระที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะฝ่ายเลขาของ คสช. ก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 นับตั้งแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และเพื่อให้การประชุมวิชชาการครั้งนี้ได้ร่วมกันพัฒนาระบบ กลไก และกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพและปฏิรูปประเทศไทย
การประชุมครั้งนี้ใช้ชื่อว่า “วิชชา” เพื่อต้องการเน้นย้ำว่าการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาประชาธิปไตย การปฏิรูประบบสุขภาพ และการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ นอกจากต้องการความรู้และสร้างให้เกิดความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่องแล้ว การดำเนินงานต่างๆ ยังต้องใช้ปัญญาและสร้างให้เกิดปัญญาในระดับต่างๆ ควบคู่ไปด้วย
โดยแนวคิดเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยก่อตัวมากว่า 2 ทศวรรษ เนื่องมาจากมุมมองเรื่องสุขภาพแบบแยกส่วนเปลี่ยนไป จากเดิมจะมุ่งการขยายบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขและเน้นการรักษาโรค มาสู่การมองแบบองค์รวมเน้นการป้องกัน หรือที่เรียกว่า “สร้างนำซ่อม” และมองว่าเรื่องสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของมดหมอ หยูกยา การรักษาพยาบาล หรือการแพทย์และสาธารณสุข แต่เป็นเรื่องของสุขภาวะใน 4 มิติ คือ ร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ที่เชื่อมโยงกันอย่างสมดุลและสัมพันธ์กับระบบต่างๆ ของสังคม การมีสุขภาพดีจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจัดระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดีเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกมากมาย เช่นพฤติกรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อม ระบบต่างๆ ในสังคม และระบบนโยบายสาธารณะซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม
กรอบแนวคิดการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยได้เสนอจุดมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของระบบสุขภาพแห่งชาติว่า “ต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยทุกคนให้มีสุขภาวะทั้งทางกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ โดยมุ่งเน้นการสร้างสุขภาพมากกว่าการซ่อมสุขภาพ สุขภาพดีจึงเป็นสิทธิและความรับผิดชอบของคนไทยทุกคน รัฐมีหน้าที่ในการสร้างนโยบายและระบบเพื่อให้เกิดหลักประกันอย่างทั่วถึงและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์”
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการจัดตั้งสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) ขึ้นในปี 2543 ทำหน้าที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพจากทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ เป้าหมายคือการประกาศใช้ “กฎหมายว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” เป็นกฎหมายแม่บทของระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยริเริ่มกระบวนอย่างเป็นระบบมานับแต่ปี 2543 จวบจนปี 2550 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จึงผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มีนาคม 2550
โดยกฎหมายได้ให้ความหมายของ “สุขภาพ” ไว้ว่า “ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล” รวมทั้งได้กำหนดให้มีการพัฒนาเครื่องมือและกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ได้แก่ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพ และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี ประกอบด้วยกุศล 3 ประการ คือ กุศลทางปัญญา กุศลทางสังคม และกุศลทางศีลธรรม
แนวคิดการปฏิรูประบบสุขภาพข้างต้นเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับการปฏิรูปทางการเมืองของประเทศไทย ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) มาสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy) ที่มองว่าทุกภาคส่วนของสังคมควรเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ดังบทบัญญัติที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
มาตรา 87 ที่บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดย
(1) ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ
(3) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ในรูปแบบองค์กรทางวิชาชีพหรือตามสาขาอาชีพที่หลากหลาย หรือรูปแบบอื่น และ
(4) ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งทางการเมือง และจัดให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองเพื่อช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายทุกรูปแบบให้สามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอความต้องการของชุมชนในพื้นที่
>>Click<< กำหนดการประชุมฯ
>>Click<< กำหนดการเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ
>>Click<< ที่รูปเพื่อดาวโหลดโปสเตอร์ปาฐกถา