“เอชไอเอชุมชน บทบาทและความท้าทายในกระบวนการนโยบายสาธารณะ”
กระบวนการ “เอชไอเอชุมชน” หรือกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพชุมชน (Community Health Impact Assessment ;CHIA) อาจเป็นประเด็นใหม่และความรู้ใหม่สำหรับใครหลายคนที่เพิ่งได้ยินคำนี้ หากแต่กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อตั้งโรงไฟฟ้า เหมืองแร่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเขื่อน ในหลายชุมชนและในหลายพื้นที่ ได้นำกระบวนการ “เอชไอเอชุมชน” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเติมเต็มระบบการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมของไทยโดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคม มาช่วยประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนของเขาในหลายพื้นที่แล้ว ซึ่งในการประชุมวิชาการ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2555 เรื่อง เอชไอเอชุมชนสร้างอำนาจทางปัญญาในการกำหนดอนาคตตนเองและสังคมในวันที่ 16-17 กรกฏาคม 2555 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร จัดขึ้นโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายนั้น ได้มีอภิปรายหมู่ที่น่าสนใจในหัวข้อ “บทบาทของเอชไอเอชุมชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ”
รศ.ดร. วุฒิสาร ตันไชย นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้าได้อภิปรายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ที่ผ่านเครื่องมือในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของคนไทยเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่นั้นมีเครื่องมือ EIA หรือ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องมือหลักอยู่แล้วหากแต่การประเมิน EIA นั้นเป็นการจัดทำการประเมินโดยคนนอก ซึ่งสำหรับคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ นั้นๆ การจัดทำการประเมินในลักษณะนี้เหมือนให้คนแปลกหน้ามาประเมินว่าบ้านเราจะได้รับผลกระทบหรือไม่หากมีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในแต่ละแห่งจริง มันก็ดูเป็นเรื่องที่แปลก และทำให้หลายครั้งการประเมิน EIA ล้มเหลว
หากแต่วันนี้ได้มีกระบวนการใหม่ในการที่จะประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่คือการนำกระบวนการ CHIA มาใช้นั้น ผมมองว่ามันเป็นกระบวนการที่ทำให้การมีส่วนร่วมและกรอบการทำงานนโยบายสาธารณะเปลี่ยนแปลงขึ้น และ CHIA นั้นจะเป็นกรอบการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของคนในสังคมไทยแบบใหม่ที่ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบได้มากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาในการประเมิน EIA นั้นทุกคนจะพูดเฉพาะเรื่องที่ตัวเองชอบ แต่กระบวนการของCHIA นั้นจะพูดในเรื่องข้อเท็จจริงที่จะต้องเป็นธรรมและรับฟังทุกฝ่าย”นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้าระบุ
รศ.ดร. วุฒิสาร ยังอภิปรายเพิ่มเติมด้วยว่าการทำการประเมินผลกระทบไม่ว่าจะในรูปแบบของ EIA หรือ CHIA นั้นจะต้องสอดคล้องกับชุมชน ไม่ใช่ถูกกำหนดหรือบิดเบือนประเด็นเพื่อหาผลประโยชน์เข้าตนเองโดยคนแปลกหน้า การทำ EIA หรือ CHIA นั้น จะต้องสร้างให้เกิดดุลยภาพและการยอมรับจากทุกฝ่ายร่วมกันและจะต้องทำให้เกิดการยอมรับร่วมกัน ถึงจะเป็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนหากมีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ได้อย่างแท้จริง
ด้านดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุว่า “การประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในรูปแบบ CHIA นั้นจะทำให้เราได้ความรู้ครบถ้วนทั้งจากคนข้างนอกชุมชมและจากคนข้างในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ การจัดทำผลกระทบในรูปแบบของกระบวนการ CHIA สามารถเปิดเผยให้เห็นทั้งความจริง ความดีงาม ก่อนที่เราจะตัดสินใจใดๆ ที่กระทบกับผู้อื่นกระบวนการ CHIA จะตั้งคำถามกับผู้ปฏิบัติด้วยว่าในความเป็นมนุษย์ของคุณคุณรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ แล้วคุณจะอยู่ร่วมกับการมีผลกระทบได้อย่างไร กระบวนการ CHIA จะสร้างเชื้อความรู้ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ เรื่องของการเข้าใจระบบนิเวศ สิ่งเหล่านี้เริ่มได้ที่ CHIA แต่กระบวนการในการที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ภาคประชาชนก็จะต้องช่วยกันคิด และจัดทำกระบวนการและข้อเสนอที่ต้องเห็นอย่างเป็นรูปธรรม และต้องมีกระบวนการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และลึกซึ่ง พร้อมทั้งต้องปรับข้อเสนอของตนเองให้แหลมคนยิ่งขึ้นด้วย”นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าว
ขณะที่นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรี บ้านปริก อ.สะเดา จังหวัดสงขลา กล่าวอย่างชัดเจนว่า “ในส่วนบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นผมถือว่าเป็นภาระหน้าที่หลักของคนทำงานท้องถิ่นที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของคนในชุมชนของตนเองไว้ให้ได้ กรอบคิดของผู้น้ำท้องถิ่นนั้นจะต้องชัดเจนในจิตสำนึกของความเป็นคนท้องถิ่น ผมคิดว่าในการประเมินผลกระทบเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการในรูปแบบขนาดใหญ่แบบ CHIA นั้นผู้นำองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดจะต้องเข้าร่วมอบรมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินในลักษณะนี้ เพราะเมื่อทุกคนเขามาเรียนรู้การประเมินในรูปแบบ CHIA นั้นการจะออกใบอนุญาติให้โครงการใดโครงการหนึ่งมาสร้างผลกระทบกับผู้คนในชุมชนของตนเองนั้นก็เป็นไปอย่ารอบคอบขึ้นและฟังเสียงของประชาชนในท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบได้มากขึ้น
ทั้งนี้ในส่วนพื้นที่ของบ้านปริกเรานั้นเป็นพื้นที่เล็กผลกระทบเรื่องโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพนั้นอาจจะยังไม่เยอะมาก หากแต่ในพื้นที่รอบนอกของพวกเรานั้นก็รายรอบไปด้วยโรงงาน แต่เราก็จัดทำการประเมินผลกระทบแบบ CHIA โดยเชิญหลายฝ่ายเข้ามาร่วมพูดคุยกัน เราได้มีการลงสำรวจในระดับพื้นที่และชุมชนของเราว่าการเข้ามาของโรงงานนั้นส่งผลกระทบต่อผู้คนในชุมชนของเราอย่างไร เราได้มีกระบวนการในการจัดทำแผนสุขภาพชุมชน และขยายไปถึงการทำแผนสุขภาพในระดับเทศบาล เราได้ประเมินถึงผลของการคุกคามของโรงงานที่จะมีต่อชาวบ้านแล้วนำไปเสนอและพูดคุยกับโรงงานถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน เป็นกระบวนการกดดันทางสังคมของพวกเรา ซึ่งหากโรงงานที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่เราหรือโรงงานที่มีอยู่แล้วเห็นด้วยและนำไปปฏิบัติตามแผน CHIA ที่ชุมชนของเราได้ช่วยกันสร้างขึ้น ชุมชนกับโรงงานก็จะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้”นายกเทศมนตรี บ้านปริก อ.สะเดา จังหวัดสงขลากล่าว
ด้านนพ.กิจจา เรืองไทย ตัวแทนจากคณะกรรมการบริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม ให้ความเห็นในมุมมองของภาคธุรกิจว่า “ประเด็นปัญหาเมื่อที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมนั้นปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้นอาจจะไม่ใช่จากภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวหากแต่มีกระบวนการอื่นที่ทำให้ปัญหาและผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้นขยายตัวมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมเองก็ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญด้วยเช่นกัน เราเข้าใจแล้วว่า ถ้าเราทำ EIA แต่ถ้าไม่ดูแลสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน ระบบอุตสาหรรมเองก็อยู่ไม่ได้เพราะผู้บริโภคไม่มีกำลังในการซื้อของที่เราผลิตขึ้นมาเพราะเขาได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมการทำเรื่องนี้มันเป็นห่วงโซ่ ถ้าคุณบอกว่าคุณทำดีแต่ห่วงโซ่ในระบบอุตสาหกรรมของคุณเองไม่ดีก็จะมีปัญหา ผมมองว่าการจะแก้ปัญหาเรื่องนี้นั้นจะต้องแก้ทั้งระบบ
กระบวนการของ CHIA ที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นถือเป็นเครื่องมือที่มีพลังมากเพราะจะเป็นการนำข้อมูลและข้อเท็จจริงมาพูดกันทั้งสองด้าน อย่างไรก็ตามหากจะมีกระบวนการของ CHIA มาช่วยในการตัดสินเรื่องนโยบายสาธารณะขนาดใหญ่นั้นผมอยากให้มองทั้ง 2 กรณี คือถ้าในกรณีของโรงงานที่ตั้งมาก่อนที่จะเกิดการทำกระบวนการนี้นั้นอาจจะไม่จำเป็นให้เขาต้องรื้อถอนโรงงานของเขาได้หรือไม่หากแต่ควรจะเป็นการพูดคุยกันอย่างชัดเจนว่าจะต้องมีการทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งหากมองในภาพรวมเกี่ยวกับกระบวนการ CHIA แล้วนั้นภาคธุรกิจอย่างพวกเราเห็นด้วยที่จะทำแต่ต้องแยกว่าเป็นประเด็นเก่าหรือประเด็นใหม่ ถ้าเป็นอันใหม่ทำตรงนี้ก็จะช่วยไม่เฉพาะชุมชนและผู้บริโภคเองหากแต่จะช่วยให้โรงานอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ร่วมกับชุมชนได่อย่างมีความสุขด้วยเพราะ ผู้บริโภคและชุมชนนั้นก็เป็นผู้กำหนดอนาคตของธุรกิจที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจอย่างพวกเราด้วย”ตัวแทนจากคณะกรรมการบริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมกล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามกระบวนการ CHIA อาจจะเป็นเครื่องมือในการปกป้องสิทธิของชุมชน และการสร้างความเข้าใจในการอยู่รวมกันอย่างสงบสุขระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าเครื่องมือนี้เห็นจะหนีไม่พินจิตสำนึกสาธารณะที่หลายฝ่ายจะต้องมีร่วมกันในการคำนึงถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและความเป็นชุมชน ที่ไม่ใช่ใช้คำพูดในการสร้างความเข้าใจเท่านั้น หากแต่จะต้องใช้ใจและการปฏิบัติในการสร้างให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยนั่นเอง