By the River สายน้ำติดเชื้อ: ห้วยคลิตี้รินไหลในแผ่นฟิล์ม

                                       By the River สายน้ำติดเชื้อ: ห้วยคลิตี้รินไหลในแผ่นฟิล์ม

 

เรื่องโดย ปิยกุล ภูศรี
ภาพโดย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
  
           เรื่องราวของห้วยคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่ลำห้วยมีสารตะกั่วปนเปื้อนจากการทำเหมืองของ
นายทุนนอกพื้นที่ ทำให้ลำห้วยที่เป็นแหล่งน้ำหลักเพียงแห่งเดียวของชาวบ้านคลิตี้ล่างที่อยู่ในป่าเขาห่างไกลต้องกลายเป็น
สายน้ำพิษที่นำพาความเจ็บป่วยมาให้กับชาวบ้าน เป็นกรณีพื้นที่ปนเปื้อนซึ่งส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่
ชาวไทยรู้จักเป็นแห่งแรกๆ เนื่องจากสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องมาหลายปี และมีคณะทำงานเข้าไปติดตาม
การแก้ไขปัญหาของภาครัฐ รวมถึงเข้าไปจัดกิจกรรมร่วมกับชาวชุมชนบ้านคลิตี้ล่างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฟื้นฟูขวัญกำลังใจ
ของชาวบ้าน และคอยย้ำเตือนไม่ให้สังคมลืมเลือนเรื่องของพวกเขา
นับเป็นครั้งแรกที่เรื่องราวของชาวบ้านคลิตี้ล่างกับลำห้วยคลิตี้ได้ถูกนำเสนอเป็นภาพยนตร์สารคดีขนาดยาว ในชื่อเรื่อง “By the River” หรือ “สายน้ำติดเชื้อ” โดยผู้กำกับหนุ่มมากความสามารถ เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล ซึ่งเคยมีผลงานกำกับภาพยนตร์สารคดีนอกกระแสที่กลายเป็นกระแสให้คนในสังคมได้มาถกเถียงกันนเรื่องปัญหาความ ขัดแย้งตามแนวชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา เรื่อง “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” โดยภาพยนตร์เรื่องสายน้ำติดเชื้อนี้ สามารถ คว้ารางวัล Special Mention จากเทศกาลภาพยนตร์โลคาร์โน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้อีกด้วย ทำให้เรื่องราว ของชาวบ้านคลิตี้ล่างได้ไปปรากฏต่อสายตาชาวต่างชาติในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก
ขึ้นชื่อว่าเป็นสารคดีหลายคนอาจจะตั้งธงไว้ก่อนถึงความน่าเบื่อ การเอาไมค์ไปจ่อปากผู้ถูกสัมภาษณ์ ให้เล่าเรื่องราวออกมาเรื่อยๆ หรือสารคดีที่สาระอัดแน่นแต่ดูไม่สนุก ไปจนถึงดูไม่รู้เรื่อง แต่สายน้ำติดเชื้อไม่ได้เป็น ภาพยนตร์สารคดีแบบที่กล่าวมาข้างต้น เพราะผู้กำกับได้ถ่ายทอดเรื่องราวของชาวบ้านคลิตี้ล่างออกมาในรูปแบบของ ภาพยนตร์ที่มีการดำเนินเรื่องราวโดยมีตัวละครหลัก ตัวละครรอง ชาตะกรรมของตัวละครแต่ละคนแตกต่างกันไป แต่ ชีวิตของพวกเขาทั้งหมด อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของพวกเขาและหมู่บ้านเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสายน้ำใสที่ไหลเอื่อยๆ อยู่ในป่าเมืองกาญจน์นั่นคือลำห้วยคลิตี้ สายน้ำติดเชื้อพิษสารตะกั่วที่ทำให้พวกเขายังคงมีชีวิตอยู่ แต่ก็เป็นชีวิตติดเชื้อ ที่หลายต่อหลายคนในภาพยนตร์ล้วนมีสาร ตะกั่วไหลเวียนอยู่ในร่างกายตลอดเวลา
เสียงชมเชยจากผู้ชมจำนวนมากนอกจากการถ่ายทอดเรื่องราวชาวบ้านคลิตี้ออกมาได้อย่างน่าติดตาม การถ่ายภาพที่สวยงาม และเพลงประกอบที่มีเพลงกระเหรี่ยงที่หาฟังได้ยากในปัจจุบันแล้ว สิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์ก็ คอยย้ำเตือนให้เรารู้สึกอยู่เสมอว่าตัวแสดงในที่นี้คือชาวบ้านคลิตี้ล่างจริงๆ ที่มีชีวิตจิตใจจริง ถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิต ของพวกเขาออกมาตามความเป็นจริง และทั้งความทุกข์ ความสุข รอยยิ้ม และน้ำตาของพวกเขาที่ปรากฏอยู่ใน ภาพยนตร์คือความเป็นจริงในชีวิต ประจำวันที่พวกเขาไม่ได้แสดงหรือปั้นแต่งสีหน้าท่าทางเหมือนภาพยนตร์ทั่วไป
นี่คือศิลปะในการถ่ายทอดความจริงออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์
ก่อนการจัดฉายภาพยนตร์เรื่องสายน้ำติดเชื้อในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะผู้จัดได้มีการจัดงาน เสวนาหัวข้อ "By the river กับการฟื้นฟูสายน้ำ ฟื้นฟูชีวิต คนคลิตี้ล่าง" ที่โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ โดย มีทั้งตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นักวิชาการที่เข้าไปทำงานฟื้นฟูในพื้นที่ องค์กรอิสระที่เข้าไปฟื้นฟู จิตใจชาวบ้านคลิตี้ล่าง และทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์เข้าร่วมงานเสวนา ทำให้ผู้เข้าร่วมงานเสวนาได้รับรู้ถึงที่มาที่ไปของ เรื่องราวปัญหาของชาวบ้านคลิตี้ล่างได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นก่อนการรับชมภาพยนตร์
วิทิต จันทามฤต ช่างภาพจากภาพยนตร์สายน้ำติดเชื้อ กล่าวถึงการทำงานในพื้นที่ว่า “เราเข้าไปทำงาน ในพื้นที่โดยไม่มีนักวิชาการเข้าไปด้วย แต่เราก็ได้ศึกษาข้อมูลของกรณีปัญหาจากฝ่ายข้อมูลของเรา พอไปถึงชาวบ้าน ก็เล่าให้เราฟังว่าปัญหามันคืออะไร คนที่ป่วยเป็นยังไง ซึ่งพอเราได้เห็น ชาวบ้านเล่าให้เราฟังเรื่อยๆ เราก็รู้ว่ามันเกิด ผลกระทบขึ้นจริงๆ ในหมู่บ้านนี้ซึ่งรอบแรกที่เราเข้าไปถึงหมู่บ้านเราก็ได้ตามชาวบ้านไปดำปลา ซึ่งเราเป็นคนเมือง พอได้เห็นเขาดำปลาก็ โอ้โห...นี่มันคือวิถีชีวิตของเขาจริงๆ วันต่อๆ มาเราก็ได้ไปพบกับผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้าน ได้ฟังเรื่องเล่าจากสมัยก่อน ซึ่งเราทำงานไปชาวบ้านก็ให้ความรู้กับเราไปเรื่อยๆ แล้วเราก็กลับมากรุงเทพฯ เพื่อเตรียม หาข้อมูลกลับเข้าไปรอบสอง พอ 4-5 วันต่อมาก็มีโทรศัพท์มาหาเรา บอกว่าพี่คนที่พาเราไปดำปลาเสียชีวิตแล้วนะ ทำให้เราตกใจกันมาก ซึ่งโดยประเพณีต้องฝังศพทันที ทำให้เราไปร่วมงานไม่ทัน พอเรากลับเข้าไปรอบที่สอง ทีมงาน ของเราก็เริ่มมีความผูกพันกับชาวบ้าน ซึ่งผู้กำกับก็เห็นว่าผลกระทบที่เกิดกับชาวบ้านมันเกิดขึ้นกับชาวบ้านในแต่ละช่วงวัย ต่างๆ ซึ่งเราก็เลือกเล่าเรื่องด้วยวิธีนี้เหมือนเป็นการมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตผ่านตัวแสดงทำให้เราได้เส้นเรื่องหลักมา”
“สายน้ำติดเชื้อ มิใช่เพียงแค่ติดเชื้อตะกั่ว หากแต่สะท้อนการติดเชื้อของระบบที่ติดเชื้อของการเห็นแก่ตัว
การเอารัดเอาเปรียบ การเพิกเฉย ล่าช้า ของหน่วยงานรัฐ และการมองข้ามชีวิตคน ชีวิตของสังคมที่จะเดินต่อไป” สุรพงษ์ กองจันทึก ศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวสรุปปิดท้ายวงเสวนา
แม้ว่าจะเป็นเวลาปีกว่าแล้วหลังคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมในลำห้วยคลิตี้ แต่การดำเนินการฟื้นฟูก็ยังไม่เกิดขึ้น โดยยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาแต่เราก็หวังว่าสายน้ำคลิตี้ที่ไหลสู่เมืองใหญ่ ผ่านภาพยนตร์สายน้ำติดเชื้อ จะช่วยให้คนในสังคมหันมามองปัญหาสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ปนเปื้อนอย่างให้ความสนใจ มากขึ้น
เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งจะส่องสะท้อนภาพของสังคมในส่วนใหญ่ว่าเอาใจใส่ ต่อเพื่อนร่วมสังคมของเราเพียงใด นั่นคือสิ่งที่สายน้ำติดเชื้อกำลังตั้งคำถามกับเรา...