ชุมชนท่าศาลารับรางวัลสมัชชาอะวอร์ด หลังใช้เอชไอเอชุมชนปกป้องพื้นที่

 ชุมชนท่าศาลารับรางวัลสมัชชาอะวอร์ด หลังใช้เอชไอเอชุมชนปกป้องพื้นที่

           วันที่ 17 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 ที่มีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน ชุมชน วิชาการ สื่อมวลชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
           เริ่มต้นด้วยพิธีมอบรางวัล “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” 3 ประเภท ประกอบด้วยรางวัล 1 จังหวัด ได้แก่ สมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี รางวัล 1 พื้นที่ มีการครองรางวัลร่วมกันระหว่างธรรมนูญสุขภาพอำเภอ สูงเม่น จังหวัดแพร่ และธรรมนูญสุขภาพตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ รางวัล 1 กรณี ได้แก่ กรณีการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจ และผลิต จำกัด ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
           คณะทำงานรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2556 ได้จัดทำเกณฑ์การพิจารณารางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2555 ซึ่งมีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน ได้กำหนดเกณฑ์พิจารณารางวัล 1 กรณีว่า คณะกรรมการรางวัลฯ ให้ความสำคัญกับการมีกระบวนการเรียนรู้ของคนในชุมชนในการจัดทำเอชไอเอชุมชน (Community Health Impact Assessment – CHIA) มีการดำเนินการ ตามขั้นตอนและกระบวนการจัดทำเอชไอเอชุมชนอย่างครบถ้วน มีกระบวนการนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย และมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีต่อสุขภาพของชุมชน

           สุพร โต๊ะแสน นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่าหากมีการสร้างท่าเทียบเรือ ชาวบ้านในพื้นที่ต้องโยกย้ายและประกอบอาชีพใหม่ แต่คนที่นี่เป็นลูกชาวประมง ตื่นเช้ามาก็ทำประมง จะให้ไปตัดยางเป็นกรรมกรก็ไม่ได้ คนในพื้นที่เป็นมุสลิม การโยกย้ายจะทำให้วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลง
“การให้ข้อมูลแบบนี้ชาวบ้านใช้กระบวนการซีเอชไอเอเก็บข้อมูลของพี่น้อง มีเรือสองพันลำ เวลาออกทะเลได้ปลามาขายเป็นเงินกี่บาท หลังจากนั้นพยายามรวบรวมสัตว์น้ำในอ่าวท่าศาลาว่ามีสัตว์น้ำกี่ชนิด พบว่ามี 260 ชนิด เรามีโรงงานเล็กๆ ในชุมชน มีลูกจ้าง 5,000 กว่าคน”
           นายกสมาคมประมงฯ กล่าวต่อว่า การต่อสู้ของชาวประมงเพื่อปกป้องอ่าวท่าศาลาที่เริ่มต้นจากภัยคุกคามของเรือประมงพาณิชย์ เรือคราดหอย จนเกิดการรวมตัวของชาวประมงเพื่อเฝ้ารักษาทะเล ด้วยการรวมตัวกันจากกลุ่มอนุรักษ์จนกระทั่งกลายเป็นการรวมตัวในนามสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลาในปัจจุบัน และการรวมตัวเคลื่อนไหวในพื้นที่อ่าวท่าศาลามีมายาวนานสิบกว่าปี และมีความพยายามให้เป็นชุมชนที่จะพึ่งตนเอง จึงกลายเป็นกระบวนการพัฒนาใน 2 รูปแบบร่วมกัน คือกระบวนการหยุดภัยคุกคามและการสร้างรูปธรรมการพึ่งตนเองและการอนุรักษ์

           นอกจากนี้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้การใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบสุขภาพระดับชุมชนหรือเอชไอเอชุมชนต่อการจัดการทิศทางการพัฒนาของพื้นที่ชายฝั่งทะเล อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช