วงวิชาการชี้เอชไอเอต้องพัฒนาความรู้ทางเทคนิคและสังคม ด้าน รธน.ใหม่ระบุไว้ 3 หมวดสำคัญ สิทธิ-แนวพื้นฐานแห่งรัฐ-ปฏิรูป


HIA in Thailand – วงวิชาการชี้เอชไอเอต้องพัฒนาความรู้ทางเทคนิคและสังคม ด้าน รธน.ใหม่ระบุไว้ 3 หมวดสำคัญ สิทธิ-แนวพื้นฐานแห่งรัฐ-ปฏิรูป






 วงวิชาการชี้เอชไอเอต้องพัฒนาความรู้ทางเทคนิคและสังคม

ด้าน รธน.ใหม่ระบุไว้ 3 หมวดสำคัญ สิทธิ-แนวพื้นฐานแห่งรัฐ-ปฏิรูป

                  นักวิชาการ-ชุมชนหนุนพัฒนาความรู้ทางเทคนิคและสังคมใช้ในกระบวนการเอชไอเอ ย้ำภาคประชาสังคมควรมีโครงสร้างและกลไกรองรับ ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุเอชไอใน 3 หมวดสำคัญ สิทธิ-แนวพื้นฐานแห่งรัฐ-ปฏิรูป ด้าน สช.พร้อมหนุนเสริม สร้างกระบวนการเรียนรู้กับทุกภาคส่วน
                  เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดแถลงข่าว “การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในกระแสปฏิรูป” และผลลัพธ์ของการประชุมวิชาการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA Conference) ณ ห้องราชเทวี โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร
ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าข้อสรุปที่ได้จากการประชุมวิชาการครั้งนี้คือเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์แผนงาน กิจการโครงการ กิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบจะกระทำไม่ได้เว้นแต่จะมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ควรมีบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และสาระสำคัญนี้อาจจะไประบุเรื่องสิทธิด้วย และควรผลักดันใช้เอชไอเอกำหนดนโยบายสาธารณะ
                  โดยจะต้องก้าวข้าม 4 ข้อจำกัดด้วยกันคือ 1.ก้าวข้ามกระบวนการอนุมัติอนุญาตระดับโครงการไปสู่กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการแสวงหาทางเลือกระดับนโยบาย 2.ก้ามข้ามการนำแนวทิศทางการพัฒนาของรัฐส่วนกลางเป็นตัวตั้ง มาสู่การเคารพแนวทางการพัฒนาที่ชุมชนกำหนดเอง 3.ต้องก้าวข้ามการใช้เทคนิคเพียงด้านเดียวภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าของโครงการ มาสู่การใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับชุดข้อมูลความรู้ของชุมชนอย่างเท่าเทียมกัน 4.ก้าวข้ามภาวะไร้ความรับผิดในการตรวจสอบจนนำมาสู่ผลกระทบด้านสุขภาพ เช่นเปลี่ยนการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมาสู่การตรวจสอบผลกระทบและแก้ไขปัญหา
                   นางวัชราภรณ์ วัฒนขำ ภาคประชาสังคมจังหวัดเลย กล่าวว่าชุมชนรอบเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลยมีการทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชนหรือซีเอชไอเอซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันคู่ขนานกับบริษัทเหมืองแร่ที่ทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอที่เป็นข้อบังคับตามกฎหมายที่โครงการที่เข้าข่ายกิจการอาจรุนแรงจะต้องทำการศึกษา พบว่าการทำซีเอชไอเอเป็นภาระของชุมชนในขณะที่อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่อีเอชไอเอ เกิดการใช้ข้อมูล 2 ชิ้นที่อาจจะขัดแย้งกันแต่ในขณะเดียวกันก็สร้างอำนาจทางความรู้ให้กับชุมชน และควรมีโครงสร้างและกลไกการสนับสนุนกระบวนการนี้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการใช้สิทธิในการตัดสินใจระดับนโยบายทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง
                    นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่าขณะนี้พบว่าการนำเครื่องมือเอชไอเอ เข้าไปใข้ในแต่ละภาคส่วนมีเงื่อนไขเชิงเทคนิค เทคโนโลยีและเทคนิคสังคมที่แตกต่างกันและทีมงานทางวิชาการยังไม่สามารถพัฒนาเครื่องมือที่ใช้เทคนิคสังคมร่วมกับเทคโนโลยีให้ผสมกลมกลืนอย่างแนบเนียนได้จึงยังพบปัญหาในการใช้ระบบแต่ไม่ได้ความเป็นความล้มเหลวในขณะเดียวกันกลับเป็นการสะท้อนการต่อสู้ที่ชัดเจน มีคนเห็นความสำคัญ และโจทย์ต่อไปคือจะปรับแก้ระบบนี้อย่างไรโดยในครั้งนี้อาจจะเสนอเป็นโจทย์เข้าไปในวาระของการปฏิรูปประเทศไทยในขณะนี้ก็ได้
                   ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบฯ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีหน้าที่พัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนนำปรับใช้เช่นภาครัฐที่ปัจจุบันมีความพร้อมมากกว่า ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างเครื่องมือและกลไกให้กับทั้งภาคประชาชนรวมถึงภาคเอกชนให้ใช้ได้เท่าเทียมกันด้วย โดยกรอบการทำงานที่พยายามปรับใช้ในระบอบประชาธิปไตยที่มีกลไกนโยบายหลายนโยบาย มีกระทรวง ทบวง กรม ภาคประชาชนเป็นกลุ่มที่ผลักดันกระแสนโยบาย แต่โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนที่มีการขับเคลื่อนนโยบายมีส่วนในการใช้ HIA ได้จริง
                    ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าเครื่องมือเอชไอเอจะเกี่ยวข้องกับหมวดว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และหมวดปฏิรูปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ม.67 วรรค 2 เดิม จะไม่มีการจ้างตรงระหว่างเจ้าของโครงการกับบริษัทที่ปรึกษา และมีการประเมินระดับยุทธศาสตร์เพื่อดูความสอดคล้องกับผลการทำ SEA แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทรัพยากรเป็นสมบัติของรัฐรัฐจะต้องบริหารทรัพยากรให้เป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ประเด็นนี้จะตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาที่จังหวัดเลย และสาระเหล่านี้จะบรรจุอยู่ในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการตีความ นอกจากนี้ในหมวดปฏิรูปยังมีการระบุถึงเครื่องมือใหม่ที่จะในการปฏิรูปเช่นภาษีสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์ พิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
                    นางกรรณิการ์ บรรณเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สนับสนุนสร้างเครือข่ายนักวิชาการเพื่อหนุนเสริมการสร้างความรู้ให้กับสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เกิดเครือข่ายปฏิบัติการในพื้นที่รวมทั้งชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ หนุนเสริมซึ่งกันและกัน เกิดเวทีแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และทำงานร่วมกับเพื่อนภาคีเช่นกองประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กรมอนามัย นอกจากนี้จะมีการระบุเครื่องมือเอชไอเอไว้ในธรรมนูญสุขภาพ สนับสนุนการใช้สิทธิ์ตาม ม.11 พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ให้บุคคลและคณะบุคคลมีสิทธิ์ร้องขอให้มีการประเมินผลกระทบจากนโยบายสาธารณะที่ประกาศใช้