ปาฐกถา เรื่อง “ผลกระทบของกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ” (IA of HIA) โดย นายแพทย์ อำพล จินดาวัฒนะ


HIA in Thailand – ปาฐกถา เรื่อง “ผลกระทบของกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ” (IA of HIA) โดย นายแพทย์ อำพล จินดาวัฒนะ






ปาฐกถา เรื่อง “ผลกระทบของกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ” (IA of HIA)
โดย นายแพทย์ อำพล จินดาวัฒนะ
ภายในการประชุมวิชาการ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA Conference)

ประจำปี พ.ศ.2557 26 มกราคม 2558 เวลา 9.30-10.00 น. ณ โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กรุงเทพฯ

               

                การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากหลายฝ่ายมาร่วมกันจัด เป็นลักษณะการทำงานแบบใหม่ในสังคมไทย เรียกว่าเป็น “การอภิบาลโดยเครือข่าย” ไม่ใช่งานขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง การประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นของเราทุกคน ทั้งฝ่ายผู้จัดและผู้ที่เข้าร่วม เพราะการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ Health Impact Assessment เรียกย่อว่า HIA เป็นงานสาธารณะ ไม่ใช่งานขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีหน้าที่เป็นองค์กรสนับสนุน เพราะฉะนั้น งานนี้ไม่ใช่งานของ สช. แต่เป็นงานที่ สช. มีหน้าที่สนับสนุน
                ประเด็นที่สอง ผมได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับ HIA ถึงปีนี้ก็ประมาณ 14 ปี โดยในปี พ.ศ.2543 ขณะนั้นสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดย นพ.วิพุธ พูลเจริญ เป็นหลักในการผลักดันและพัฒนาเรื่อง HIA หลังจากที่มีการระบุแนวคิดเรื่อง HIA อยู่ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 โดยให้เป็นเครื่องมือทางสังคมที่ใช้ความรู้หลายสาขา หรือเป็นสหสาขา ที่ผู้คนหลายภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน เครื่องมือในลักษณะนี้อาจจะไม่เป็นที่คุ้นชินมากนัก เพราะคนในสังคมมีแนวโน้มที่จะต่างคนต่างทำงาน
                ต่างคนต่างอยู่ในสาขาของตัวเอง แต่เครื่องมือแบบนี้จะมีพลังมาก เพราะเราจะต้องประกอบความรู้จากผู้คนหลายสาขาเข้ามาทำงานด้วยกัน ที่ผ่านมา เรื่องนี้ในประเทศไทยเติบโตขึ้นมาตามลำดับ มีหลายหน่วย หลายภาคีเครือข่ายเข้ามาเรียนรู้ และในวันนี้ก็รู้สึกดีใจที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้และทำงาน เรากำลังช่วยกันพัฒนาและต่อยอดเรื่อง HIA ให้มีคุณค่าในสังคมไทย และดีใจที่เห็นการประชุมแบบนี้ มีพัฒนาการต่อมาเรื่อยๆ ถึงแม้เวลาจัดประชุม จะมีผู้เข้าร่วมไม่เป็นพันคน แต่จะมีการก่อตัว เติบโต และเข้ามาร่วมมากขึ้น คนที่สนุกและรู้สึกว่างานแบบนี้มันใช่ ก็จะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ
                การประชุมวิชาการในประเทศไทย ยังอาจได้รับความสนใจน้อย จะพบว่า การประชุมจะเริ่มครั้งที่หนึ่งกันอยู่เรื่อยๆ ผมไปประชุมวิชาการสมาคมการสาธารณสุขที่อเมริกาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เขาประชุมครั้งที่หนึ่งร้อยกว่า ประชุมกันมาแล้วเป็นร้อยกว่าปี ปีที่แล้วผมไปประชุม IAIA 2014 หรือ International Association of Impact Assessment 2014 เขาประชุมมาแล้ว 34 ปี อย่างต่อเนื่อง และปีนี้ก็จะมีการประชุมที่ประเทศอิตาลี เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า สังคมตะวันตกที่ก้าวหน้ามาได้เพราะเขาเน้นเรื่องความรู้ จัดการความรู้ วิจัย ศึกษา แต่ที่ผ่านมา ในบ้านเราใช้ความรู้กันน้อย เราเป็นสังคมใช้ความเห็น และสังคมที่พูดมากกว่าการวิเคราะห์ การเขียน เพราะฉะนั้น การมีประชุมวิชาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้เข้าร่วมจะมีจำนวนมากหรือน้อยไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือ กำลังก่อตัว เปลี่ยนไปสู่วัฒนธรรมความรู้ ซึ่ง HIA เป็นเรื่องหนึ่งที่กำลังสร้างวัฒนธรรมความรู้
ให้เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ
                 ผมขอให้กำลังใจทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะงานนี้เป็นของเราทุกคน เราน่าจะช่วยกันทำให้เกิดขึ้นเป็นประจำ เพื่อให้มีการสั่งสมและพัฒนาความรู้ ผู้คนที่เกี่ยวข้องก็จะมีพื้นที่ในการเรียนรู้ จริงๆ แล้วเรื่องความรู้นั้น มีอยู่ในการทำงานปกติ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เรียกว่า Interactive Learning Through Action คือ การเรียนรู้จากการทำจริง เมื่อวันเสาร์ผมไปที่ ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน ไปดูชาวบ้านทำสะบันน้ำ เขาสามารถใช้น้ำจากลำห้วยขึ้นไปเก็บบนที่สูง 15 เมตร โดยผ่านท่อและผ่านระบบที่พัฒนามา แต่ไม่ใช้พลังงานไฟฟ้าเลย แล้วค่อยปล่อยลงมาเป็นน้ำหยด นี่เป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริง
                 ผมคิดว่า HIA ก็มีความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติมากมาย ทั้งความรู้ที่เกิดจากการสังเคราะห์ สังเกต ตั้งคำถาม วิเคราะห์ จัดการความรู้ หาคำตอบ บันทึก แลกเปลี่ยน การประชุมวิชาการก็คือการบันทึกและแลกเปลี่ยน แม้แต่การเขียนประสบการณ์ก็เป็นความรู้ บางคนได้แนวคิดก็นำไปทดลอง นำไปทำ ที่ผมพูดถึงตะวันตก เขาก็ทำกันแบบนี้ ความรู้ก็จะต่อยอดมากขึ้น ประจักษ์พยานชัดเจนอันหนึ่งคือ ระบบการแพทย์ตะวันตกที่ก้าวหน้า ที่มีการสร้างความรู้จากการปฏิบัติตลอดเวลา และมีการบันทึก มีการทำอย่างง่ายไปสู่อย่างยาก และพัฒนาเป็นความรู้ใหม่เรื่อยๆ จึงเกิดขึ้นเป็นความรู้สากลที่ใครก็เอาไปใช้ได้และต่อยอดไปเรื่อยๆ สิ่งนี้เป็นความงดงาม
                ท่านทั้งหลายที่มาร่วมประชุมในวันนี้ ผมเชื่อว่า ส่วนใหญ่เป็นคนที่ใฝ่หาความรู้และอยากเรียนรู้ สังคมไทยจะสามารถเปลี่ยนผ่านไปข้างหน้าได้อย่างงดงาม ต้องเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นสังคมปัญญา ไม่ใช่สังคมอำนาจ ที่สังคมไทยเป็นมาอย่างช้านาน เป็นลักษณะสังคมที่ทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปได้อย่างลำบาก แต่สังคมปัญญาคือหัวใจ คนรุ่นหลังจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ในการขับเคลื่อน
                ผมอยากเห็นการประชุมวิชาการ HIA เกิดขึ้นอย่างน้อยสองปีต่อหนึ่งครั้ง แต่ถ้าจัดได้ปีละครั้งก็ควรทำ และหมุนเวียนไปก็ได้ อย่างวันนี้เราจัดที่โรงแรมเอเชีย แต่องค์กรจัดงานคือ สถาบันจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.มอ.) เราสามารถหมุนเวียนที่จัดงานได้เพื่อสร้างสมประสบการณ์ ไม่ใช่หน่วยใดหน่วยหนึ่งจัดแล้วก็อยู่อย่างนั้น หมดสมัยที่จะไปแบ่งว่าหน่วยไหน องค์กรไหน จะเป็นเจ้าภาพ เพราะไม่ว่าหน่วยงานไหน ก็คือกลไกของประเทศของเราด้วยกันทั้งนั้น และเป็นยุคที่เราจะต้องประสานความร่วมมือกับเครือข่ายภาคี เราจะทำงานใหญ่และยากได้มากขึ้น แต่ถ้าเราต่างคนต่างทำ เราก็ทำงานเล็กและทำได้น้อย

                ประเด็นที่สาม HIA คือ ส่วนหนึ่งของ Impact Assessment คือการประเมินผลกระทบที่มีการพัฒนามานานแล้ว ซึ่งนำมาใช้ในกิจการหลายสาขา แม้แต่ในด้านเศรษฐกิจ การจะปล่อยเงินกู้ครั้งหนึ่งจะต้องประเมิน Impact Assessment ก่อน เพราะมีความเสี่ยง และเรื่องการประเมินผลกระทบก็แตกเป็นหลายเครื่องมือเช่น การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ Environmental Impact Assessment หรือ EIA การประเมินผลกระทบด้านสังคม หรือ Social Impact Assessment หรือ SIA และอื่นๆ อีกมาก HIA ในประเทศเราพัฒนามาจนถึงวันนี้ แตกไปเป็น HIA ในรูปแบบและระดับต่างเช่น Community Driven HIA หรือเอชไอเอที่ทำโดยชุมชน
                ผมมองความหมายของ HIA ในความคิดของผมไว้สามแบบคือ หนึ่ง เป็นเครื่องมือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบาย แผนงาน โครงการต่างๆ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินงาน สอง เป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี หรือ Healthy Public Policy ไม่ใช่แค่เครื่องมือประเมินผลกระทบเท่านั้น ถ้าหากกล่าวว่า เป็นแค่เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลกระทบก็จะเป็นเรื่องระเบียบวิธีหรือ methodology ไปเสียส่วนใหญ่ แต่ถ้าบอกว่า HIA เป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะ ก็อาจจะเป็นเครื่องมือทางสังคมที่กลุ่มต่างๆ ทั้งภาครัฐ ชุมชน สังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใช้เพื่อให้ได้นโยบายสาธารณะที่ดี บางคนยกระดับความหมายของ HIA ไปไกลกว่านั้น โดยเรียกว่า เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมไทยที่หลายฝ่ายเข้ามาเรียนรู้ด้วยกัน
                HIA ในบ้านเราพัฒนามาสิบกว่าปี พอถึงปี 2550 เราก็สามารถนำ HIA ไปปรากฏอยู่ในกฎหมายที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ หนึ่ง ในมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ตอนนี้พวกเราต้องตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่าจะถูกนำมาบัญญัติไว้อีกหรือไม่ และจะต่อยอดให้เข้มแข็งดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร โดยเฉพาะต้องติดตามคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด สอง คือ ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เป็นที่ทำให้ สช. มีที่ยืนในทางกฎหมาย ทำให้สามารถสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเรื่อง HIA ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ถือว่าเป็นการปักหลักในเชิงความชอบธรรมในสังคม คือ มีที่ยืนทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นการติดปีกการพัฒนา HIA ในประเทศไทย แต่ยังติดปีกไปได้ไม่ไกล เพราะข้อจำกัดของความรู้และผู้คน
                 ดังนั้น การมีการประชุมวิชาการนั้น จะเป็นการนำสิ่งที่ทำและความรู้มาแลกเปลี่ยน ซึ่งก็คือการขยายผล ขยายให้เกิดคุณค่า มีมูลค่า และมีภาคี มีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น ยกตัวอย่างว่า เราจะทำอย่างไรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ต้องรับฟังประชาชนเสมอและอยู่ใกล้ประชาชนมาก ได้เข้าใจ รู้จัก และใช้ HIA ให้มากขึ้น ตรงนี้กรมอนามัยพยายามทำอยู่ และเราต้องช่วยกันหลายทาง ยิ่งเอาไปใช้ ก็จะยิ่งขยายไปเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เข้ามาจับเรื่องนี้ มหาวิทยาลัยมีความสำคัญมากเพราะเป็นฐานวิชาการ ถ้าหน่วยที่เป็นปัญญาของสังคมมาจับเรื่องนี้ก็จะเป็นปัญญาที่แท้จริงของสังคม
                 เราไม่ได้ไปนั่งทำความรู้อยู่ระดับข้างบนอย่างเดียว แต่ต้องลงไปทำในพื้นที่ ผมเห็นปรากฏการณ์ที่อาจารย์ท่านต่างๆ เอา HIA ไปใช้อย่างเป็นสหวิทยาการก็ดีใจ เกิดการถักทอเป็นเครือข่ายนักวิชาการเอชไอเอ หรือ HIA consortium ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นคณะต่างๆ ที่ทำเรื่องเดียวกันมารวมกัน แต่ HIA consortium มีหลายสาขา และมารวมกันด้วยความสมัครใจ นี่คือ ความงามที่ปรากฏอยู่ HIA มันงามตรงที่มันเกิดเครือข่ายภาคประชาชนที่เอาเครื่องมือนี้ไปใช้ในระดับชุมชนและเอาไปใช้งานจริง

                 HIA มีตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย มีเครือข่ายทั้งแนวตั้งและแนวนอน การที่เรามาแลกเปลี่ยนกันมีคุณค่ามาก เพราะไม่ใช่แค่ตัวความรู้ แต่ได้เพื่อน เกิดการถักทอในแวดวง HIA ทำให้มีเพื่อนมากขึ้น เช่น อ.สัญชัย สูติพันธุ์วิหาร จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.อังสนา บุญธรรม จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นเครือข่ายนักวิชาการ และที่ลืมไปไม่ได้ คือ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เข้ามาร่วมตั้งแต่ยุคแรกๆ ตามมาด้วย อ.สมพร เพ็งค่ำ ที่เข้ามาต่อยอดและพัฒนางาน HIA โดยเฉพาะงานชุมชนที่มีการขยายงานไปมาก
                 เมื่อวานผมเพิ่งได้คุยกับนายกเทศมนตรีเมืองน่าน เขามีปัญหาทางจักรยาน ตอนนี้รถมากขึ้น วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป คนก็ไปจอดรถบนทางจักรยาน คนขี่จักรยานก็ไม่ใช้ทางจักรยานเพราะอันตราย พอจะเปลี่ยนให้กลับมาเป็นทางจักรยานเหมือนเดิมก็มีปัญหามาก เมื่อวานผมแนะนำให้ท่านนายกเทศมนตรีนำ HIA ไปใช้แก้ไขปัญหานี้ เพราะที่ลอนดอนก็ใช้มาแล้ว ถ้าจะใช้ก็ชวนเพื่อนไปช่วยกันทำ เพราะฉะนั้น HIA ไม่ได้ทำแต่เรื่องเหมือง เรื่องท่าเรือน้ำลึก แต่ทำได้ทุกประเด็น ถ้านายกเทศมนตรีบอกว่าใช้ ผมก็จะประสานเครือข่ายที่เชียงใหม่ให้ไปช่วยทำ สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ ปรากฏการณ์นี้ ไม่ใช่ความรู้อย่างเดียวแต่ได้เพื่อนกลับไปด้วย นี่คือคุณค่าที่มากกว่าการประชุมวิชาการทั่วไป 

                 HIA บ้านเราไม่ได้หยุดแค่นี้ เมื่อปี 2551 เรารับเป็นเจ้าภาพจัด Asia-Pacific Conference ที่เชียงใหม่ ตอนนั้นผมไปซิดนีย์ และไปประกาศในวันสุดท้ายที่จัดงานว่า ให้ประเทศไทยรับมาจัดเป็นเจ้าภาพ พอจัดเสร็จเราก็ได้ “ปฏิญญาเชียงใหม่” เราก็ขยายผลต่อยอดไปทำงานกับ ASEAN ในปีนี้กำลังจะจัด Impact Assessment and Mitigation : Towards ASEAN Engagement and Sustainable Development ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2558 ณ ศูนย์วัฒนธรรมภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก ประเทศไทย เราเห็นความงามทั้งจากระดับชุมชนและต่อยอดไปในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นความท้าทายของเราทุกคน
                 ผมดีใจที่เห็นปรากฏการณ์นี้ และขอบคุณคณะผู้จัด ขอบคุณพวกเราทุกคนที่นำเวลา ปัญญา ความรู้ ประสบการณ์ของท่านมาแลกเปลี่ยนกันในเวทีนี้ และอยากจะเห็นเวทีนี้ มีความต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน สังคมของเราก็จะเจริญก้าวหน้ามากขึ้น เครื่องมือนี้จะมีความหมายในการเอาไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน และที่สำคัญคือ เราจะเปลี่ยนจากการ walking alone เป็น walking together เราเดินไปด้วยกัน เราก็เดินไปได้ไกล และจะเดินไปได้อย่างมีความสุข เพราะเรามีเพื่อนร่วมกันมากขึ้นไปเรื่อยๆ ขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง และขอเปิดการประชุมวิชาการครั้งนี้ ณ บัดนี้

Download VDO : http://www.healthstation.in.th/action/viewvideo/2864/_____________________________________________HIA_Conference______________2557_______________________________________________________________/