บอร์ด HIA ห่วงสุขภาพชุมชนมีมติประเมินผลกระทบ 2 โรงไฟฟ้าขยะ

บอร์ด HIA ห่วงสุขภาพชุมชนมีมติประเมินผลกระทบ 2 โรงไฟฟ้าขยะ

              คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบให้ทำ HIA ของโครรงการโรงไฟฟ้าขยะ 2 โรง ที่ จ.หนองคาย และ สระบุรี หวั่นสุขภาวะชุมชนและสภาพแวดล้อมย่ำแย่ เตรียมระดมทุกภาคส่วน ร่วมกันวางกรอบการตัดสินใจที่เหมาะสมกับโรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศ ป้องกันผลกระทบและลดความขัดแย้งในพื้นที่

              นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ครั้งที่ ๕/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบการจัดทำ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA) ตามมาตรา ๑๑ ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ ๒ แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยชุมชนของ บริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.โพนสว่าง อ.เมือง จ.หนองคาย กำลังการผลิต ๔.๙ เมกะวัตต์ และ โครงการโรงไฟฟ้าขยะจากสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและไม่เป็นอันตรายของบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จ.สระบุรี กำลังการผลิต ๙.๔ เมกะวัตต์
จากรายงานการกลั่นกรองความจำเป็นในการทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กรณีขอใช้สิทธิมาตรา ๑๑ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ พบว่า อาจจะมีแนวโน้มจะเกิดผลกระทบด้านสุขภาพในหลายประเด็น เช่น พื้นที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท หนองคายน่าอยู่ฯ ตั้งอยู่พื้นที่เนินหลังเต่าล้อมรอบด้วย ๑๐ หมู่บ้าน ซึ่งอาจทำให้อากาศเสียและเป็นพิษกระจายไปสู่ชุมชนโดยรอบ เกิดกลิ่นเหม็น เป็นที่อยู่ของสัตว์นำโรครวมถึงการน้ำเสียปนเปื้อน ส่วนโครงการของบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ อยู่ในพื้นที่แอ่งกระทะล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูน อากาศ ไม่ถ่ายเท หากเกิดมลพิษจากการเผาไหม้อาจทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งปัญหากลิ่นเหม็นจากขยะ การปนเปื้อนน้ำผิวดิน รวมถึงอุบัติเหตุจากการจราจรและการขนส่งวัตถุดิบที่เป็นขยะมายังที่ตั้งโครงการ
                 นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้มีการทำงานในระดับนโยบายภาพรวมเพื่อสร้างกรอบการพัฒนาและตัดสินใจที่เหมาะสม รวมถึงลดผลกระทบที่อาจจะตามมา และเป็นการลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในรายพื้นที่ โดยให้ทำงานร่วมกับ คณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพ จากโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน โดยอาจจะจัดเวทีหารือร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนในพื้นที่ หน่วยราชการ นักวิชาการ ภาคเอกชน จัดทำข้อมูลทางวิชาการ โครงสร้าง กระบวนการ รูปแบบมาตรฐานของโรงไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย เพื่อนำไปสู่กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพต่อไป

              ด้าน นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพ จากโรงไฟฟ้าชีวมวล เสนอว่า โรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย อาจจะเกิดขึ้นได้อีกหลายพื้นที่ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบ ลดการขัดแย้งในพื้นที่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จำเป็นต้องมีการจัดทำโครงสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ เป็นที่ยอมรับของชุมชน เชื่อมโยง ต่อยอดจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ปัจจุบันมีกลไกของคณะทำงานเดิมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่ เพียงแต่เพิ่มประเด็นเชิงเทคนิค โดยเชิญตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหารือกำหนดมาตรฐานโรงไฟฟ้าขยะ ให้ครอบคลุมสมบูรณ์มากที่สุด