วิถีแห่ง “กุ้ง”

วิถีแห่ง “กุ้ง”

เรื่องและภาพโดยศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

              จากกรณีสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืนยื่นขอใช้สิทธิ์ให้มีการทำ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ตามมาตรา ๑๑ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ กรณีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ของบริษัท อิสเทิร์น ที พี เค แค๊ปปิตอล จำกัด ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไก การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เสนอเรื่องไปที่คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่มี นพ.วิพุธ พูลเจริญ เป็นประธาน และจากที่ประชุมเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ มีมติให้ทำเอชไอเอชุมชนกรณีนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ที่ประกาศโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒
              จากมติดังกล่าวและความพร้อมของชุมชนและหน่วยงานภาคีในพื้นที่ ได้เริ่มทำการศึกษาเก็บข้อมูลในหลายประเด็น ทั้งความหลากหลายของพันธุ์พืช ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนและการพัฒนาที่เข้ามาในพื้นที่ แต่หนึ่งในประเด็นที่ศึกษาและพบว่ามีการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนริมแม่น้ำบางปะกงได้อย่างน่าสนใจ นั่นก็คือ “วิถีแห่งกุ้ง”

              ราวปี ๒๕๒๙ ชาวบ้านโพธิ์เริ่มเปลี่ยนจากทำนาข้าวเพียงอย่างเดียวมา “ทำนาขาวัง” ที่เป็นการขุดลอกคูรอบนาข้าวแล้วปล่อยน้ำเข้ามาเพื่อเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำได้ในเวลาเดียวกับที่ทำนาข้าวในขาวังจะมีสัตว์หลายอย่าง เช่น กุ้งแชบ๊วย กุ้งตะเข็บ(กุ้งตะกาด) กุ้งเปลือกอ่อน ปูแป้น ปูทะเล ปลาหมอเทศปลาแขยง เป็นต้น ต่อมาเมื่อกุ้งมีราคาดีขึ้น ชาวนาหลายส่วนจึงเปลี่ยนจากอาชีพทำนามาเป็นเลี้ยงกุ้งถาวรในปี ๒๕๓๒ โดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำที่มีต้นกำเนิดมาจากทะเลอันดามันและสามารถเลี้ยงได้ดีในพื้นที่แห่งนี้

              กุ้งกุลาดำของที่นี่มีรสชาติอร่อย เนื้อแข็ง และเหนียว ทำให้เวลาส่งออกจะอยู่ได้นาน ต่างกับกุ้งก้ามกรามที่หัวใหญ่ ทำให้เวลาส่งออกที่จะต้องคัดเฉพาะเนื้อกุ้ง แล้วต้องหักหัวออก ทำให้ได้น้ำหนักน้อย ไม่คุ้มราคา และด้วยความที่คุณภาพดีทำให้สามารถเดินทางไกลไปขายถึงตลาดสหภาพยุโรปและประเทศญี่ปุ่นรวมกันเป็นร้อยละ ๕๐ จีนและสหรัฐอเมริการวมกันอีกร้อยละ ๕๐ ในช่วงนั้นกุ้งกุลาดำทำให้หลายหลังคาเรือนมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีมีรถยนต์ป้ายแดงกันแทบทุกบ้าน แต่ดูเหมือนว่า “กุ้งขาขึ้น” จะอยู่ได้ไม่นาน เพราะต่อมาสหภาพยุโรป กล่าวว่า การจับกุ้งกุลาดำของประเทศไทยทำให้เต่าในทะเลสูญพันธุ์ ทั้งที่ในพื้นที่ฉะเชิงเทราเลี้ยงกุ้งในบ่อ และต่อมา ๖ รัฐ ในสหรัฐอเมริกาฟ้องศาลสหรัฐอเมริกาว่า ประเทศไทยขายกุ้งกุลาดำต่ำกว่าทุน ทำให้บริษัทห้องเย็นและส่งออกไม่รับซื้อเพราะกลัวว่าจะเกิดปัญหาเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเนื่องจากยังอยู่ระหว่างการรอคำพิพากษา ในช่วงนั้นชาวประมงนากุ้งหลายรายต้องขายสวนใช้หนี้หรือประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก

              ปัญหาหลายอย่างที่รุมเข้ามาในปี ๒๕๔๒ จึงเป็นช่วงเวลาที่ “กุ้งขาวแวนนาไม” เข้ามาเป็นดาวเด่นดวงต่อไป ในเวลานั้นก็ยังมีข้อกังวลเรื่องเชื้อโรคต่างถิ่นบ้าง แต่ก็พบว่าเลี้ยงได้ดีและเลี้ยงง่ายเพราะกุ้งขาวกินอาหารเพียง ๒ มื้อต่อวัน และใช้ระยะเวลาเลี้ยงเพียง ๒ เดือนก็ขายได้ เรียกได้ว่ากินน้อย โตเร็ว แต่กุ้งกุลาดำกินอาหาร ๕ มื้อต่อวันแต่เส้นทางของกุ้งขาวก็ไม่สู้กุ้งกุลาดำ เพราะเป็นกุ้งที่ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาเพาะเลี้ยงได้ และเราจะส่งออกขายได้เฉพาะฤดูหนาว เพราะเป็นเพียงฤดูเดียวที่ประเทศเหล่านั้นเลี้ยงไม่ได้ ทำให้กุ้งขาวมีราคาดีแค่เฉพาะบางช่วงเวลา ปัญหาที่พบต่อมาคือ“โรค” เมื่อเลี้ยงกุ้งขาวในปริมาณมากและต่อเนื่องทำให้เกิดโรค ซึ่งก็เป็นปัญหาเดียวกับที่พบในกุ้งกุลาดำจากจุดอ่อนของกุ้งขาวนี้ ทำให้ต่อมาราวปี๒๕๕๐ ชาวประมงเลี้ยงกุ้งก็ปรับมาเป็นการเลี้ยงกุ้งขาวผสมกับกุ้งก้ามกราม หรือกุ้งขาวผสมกับปลาเบญจพรรณ หรือกุ้งขาวกับปลากะพง บางรายก็ปรับมาเป็นเลี้ยงปลากะพงอย่างถาวร เพื่อลดภาวะการ
ขาดทุนและส่งขายตลาดภายในประเทศได้ด้วย
              หากดูจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นว่า วัฏจักรของธรรมชาติบังคับให้เกิดความหลากหลาย ไม่สามารถเลี้ยงอะไรเพียงเดี่ยวๆ ได้นาน อย่างไรก็ตาม กุ้งขาวของที่นี่ก็ยังส่งออกไปขายต่างประเทศและยังคงสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดีแม้จะเทียบไม่ได้กับแต่ก่อน และกุ้งก้ามกรามของที่นี่ก็ยังเป็นที่นิยมของตลาดภายในประเทศอีกด้วยวิถีกุ้งของที่นี่ไม่ได้มีเพียงกุ้งเลี้ยงในบ่อเท่านั้นยังมีชาวประมงรายย่อยที่จับกุ้งก้ามกรามจากแม่น้ำโดยใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านหลายชนิด เช่น “ซั้ง”“โป๊ะ” “ก่ำ” ซึ่งบ่อยครั้งก็ได้กุ้งก้ามกรามตามธรรมชาติจากแม่น้ำหลายตัว และนอกจากจะนำไว้กินเองในครัวเรือน ยังส่งขายตลาดภายนอก ด้วยความสด ใหม่ และอร่อย ทำให้ทุกวันนี้ “คนซื้อวิ่งหาคนขาย” ถ้าได้กุ้งมาจากแม่น้ำกุ้ง อาจเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนความสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เลี้ยงดูคนที่นี่ได้เป็นอย่างดี และเป็นตัวสะท้อนว่า แม่น้ำบางปะกงแห่งนี้ยังประโยชน์ให้กับผู้คนอีกหลากหลาย หากมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะทำให้เรื่องราวเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป อย่างไม่อาจเรียกคืนได้ และควรจะมองและวาง “อนาคตของกุ้ง” ไว้ด้วยว่า วิถีแห่งกุ้งที่นี่จะมีเส้นทางเดินที่ยั่งยืนต่อไปอย่างไร